‘หมอธีระ’ ชี้ตรวจคัดกรองน้อย-วัคซีนไม่เพียงพอ ตัดวงจรระบาดโควิดยาก ห่วงศึกยืดเยื้อยาวนาน กระทบ ทั้งสาธารณสุข-เศรษฐกิจ-สังคม เจ็บยาวนานแต่ไม่จบ

วันที่ 6 ส.ค.64 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความว่า สถานการณ์ของไทยเรา ขณะนี้มีจำนวนติดเชื้อสะสมอยู่ที่อันดับ 40 ของโลก หากรวมยอดวันนี้ จะแซงเนปาล ขึ้นเป็นอันดับ 39 คาดว่าจะแซงเซอร์เบียและสวิสเซอร์แลนด์ในวันถัดไป

จากข้อมูล 222 ประเทศทั่วโลกมีอยู่ 19 ประเทศที่ติดเชื้อใหม่หลักหมื่นต่อวัน ไทยเป็นหนึ่งในนั้น และล่าสุดจำนวนติดเชื้อเมื่อวานของไทยเราอยู่ที่อันดับ 11 และเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย

วิเคราะห์แนวโน้มการระบาด ตราบใดที่มาตรการยังไม่เข้มข้นพอที่จะตัดวงจรการระบาด จำนวนการตรวจคัดกรองโรคในแต่ละวันยังไม่มากเพียงพอ และวัคซีนประสิทธิภาพสูงมีจำกัด ก็จะทำให้การติดเชื้อจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์แบบนี้จะ“ไม่มีทาง”ที่จะระบุได้ว่าจุดสูงสุดของการระบาดจะเป็นเมื่อใด ยกเว้นกรณีเดียวคือ การหยุดหรือชะลอการตรวจคัดกรอง ซึ่งถือเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่หายนะได้ จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

หัวใจสำคัญในการต่อสู้โรคระบาดครั้งนี้คือ “หยุดนิ่ง ตะลุยตรวจให้มากและต่อเนื่อง แยกกักตัวคนติดเชื้อออกจากคนอื่นๆ และนำส่งเข้าสู่ระบบการรักษา”

การมองเชิงยุทธศาสตร์นั้นมีความสำคัญมาก หากผิดทิศผิดทาง ก็จะเหมือนอยู่ในเขาวงกตจนหมดแรงไปในที่สุด

ขณะนี้การระบาดหลักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อกระจายไปทั่วในชุมชน และแพร่ระบาดในหมู่สมาชิกภายในครัวเรือน ที่อยู่อาศัย รวมถึงบ้านใกล้เรือนเคียง และเพื่อนสนิทมิตรสหายใกล้ชิด นอกจากนั้นที่พบมากคือในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก ได้แก่ สถานพยาบาล สถานประกอบกิจการโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ และแคมป์ก่อสร้าง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เรายังไม่หยุดนิ่ง การตรวจแต่ละวันแม้จะเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในหลัก 5-8 หมื่นต่อวัน ซึ่งยังไม่มากพอ และมีมาตรการแก้ปัญหาคอขวดสถานพยาบาล โดยไปใช้ home isolation ซึ่งจะพบว่าการบริการยังเป็นไปได้ไม่ทั่วถึง และมีโอกาสที่จะยังเกิดการแพร่เชื้อติดเชื้อในบ้านได้ ด้วยข้อจำกัดของแต่ละครัวเรือน

ที่ควรพิจารณาคือ การล็อคดาวน์แบบจริงจัง ขยายกำลังการตรวจคัดกรอง มุ่งเป้าให้ได้อย่างน้อย 150,000-200,000 ครั้งต่อวัน และการปรับมาตรการ home isolation ให้อยู่ในวิสัยที่ระบบบริการถึงบ้านจะทำได้ เน้นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว คนอ้วน สตรีตั้งครรภ์ เป็นต้น

ส่วนคนที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ที่มีสุขภาพแข็งแรง ควรให้การดูแลใน community isolation เช่น วัด โรงเรียน โรงแรม ค่ายทหาร หรืออื่นๆ เพื่อให้การดูแลแบบกลุ่ม เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพและประหยัดทรัพยากรบุคคล

มาตรการหากไม่เข้มข้นพอ ศึกจะยืดเยื้อยาวนาน และเกิดผลกระทบต่อทั้งสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม อย่างมากมาย เจ็บยาวนานแต่ไม่จบ และจะทำให้ยากในการเยียวยาฟื้นฟู
สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้ป้องกันตนเองและครอบครัวอย่าให้ติดเชื้อ
ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน