สธ.เผยแผนจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ ส่งฉีดบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก่อน เร็วกว่ากำหนด 5 วัน ฉีดแล้ว 5.7 หมื่นโดส ส่วนสัปดาห์หน้าส่งฉีดกลุ่มเสี่ยง 608 พื้นที่ 13 จังหวัดระบาด ที่ยังไม่เคยฉีดมาก่อน ย้ำทุก รพ.ระวัง ไม่ให้เกิดประเด็นฉีดวีวีไอพี

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แลถงข่าวกรณีการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ผ่านระบบออนไลน์ ว่า การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส แบ่งเป็น 1.บุคลากรทางการแพทย์ 7 แสนโดส เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่ส่งไปฉีด เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง โดยตามแผนจะส่งถึง รพ.วันที่ 7-8 ส.ค. และเริ่มฉีดวันที่ 9 ส.ค. แต่เนื่องจากความจำเป็นเร่งด่วนจึงส่งไปก่อนเร็วกว่ากำหนด คือ ส่งตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. ส่งไปยัง รพ.ใหญ่ครบทั้ง 170 รพ. ใน 77 จังหวัดใน 3 วัน และเริ่มฉีดวันที่ 4-7 ส.ค. รวม 5.7 หมื่นโดส

เมื่อวานฉีดเพิ่มขึ้น 1.1 หมื่นโดส ถือว่าเร็วกว่าแผน 5 วัน ส่วนที่ต้องส่งไป รพ.ใหญ่ เนื่องจากการจัดส่งและเก็บรักษาต้องควบคุมอุณหภูมิ ซึ่ง รพ.ใหญ่มีศักยภาพมากกว่า และเมื่อเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส วัคซีนจะมีอายุ 31 วัน จึงต้องเร่งฉีดให้หมด โดยวัคซีน 1 ขวดฉีดได้ 6 โดส หากกระจายไปหลายจุดจะควบคุมติดตามยาก หากเปิดใช้ 1 ขวดไม่ถึง 6 คนอาจมีปัญหา จึงต้องรวมไว้ที่ รพ.ใหญ่ก่อนในช่วงแรก

“ส่วนใหญ่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้ว จึงต้องฉีดบูสเตอร์โดส โดยมีการสำรวจความต้องการโดยส่งรายชื่อมาและมีการสอบทานกับข้อมูลการฉีดในหมอพร้อม พบว่า มีการฉีดด้วยแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว 20% ต้องการฉีดไฟเซอร์ประมาณ 70% จึงเป็นที่มาของการส่งวัคซีนไป รพ. 50-70%” นพ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณกล่าวว่า ผู้บริหาร สธ.ทุกคนยืนยันว่า บุคลากรด่านหน้าได้ฉีดทุกคนตามกำหนด แต่ต้องทยอยส่งเป็นล็อต เนื่องจากถ้าส่งไป 100% บางที่อาจได้เกิน เพราะฉีดแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว บางที่ขาด เราบริหารส่งเป็นล็อตเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ตัวเลขจะใกล้เคียงกับที่ รพ.แจ้งมา เนื่องจากจะมีบุคลากรด่านหน้ารายใหม่ที่ยังไม่เคยฉีดมาก่อน คือ คนที่จบใหม่ เมื่อฉีดเข็มแรกก็ต้องเว้น 3 สัปดาห์เพื่อฉีดเข็มสอง หรือบุคลากรด่านหลังที่มาเป็นด่านหน้า เนื่องจากพื้นที่มีการระบาดเพิ่ม จึงได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้าจากการตั้ง รพ.สนาม เป็นต้น ส่วนบุคลากรที่เพิ่งฉีดแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม คณะผู้เชี่ยวชาญยังไม่แนะนำให้ฉีดกระตุ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังสูง

นพ.โสภณ กล่าวว่า 2.ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้น กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 645,000 โดส โดยเป็นการฉีดในคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิดตัวอื่นมาก่อน ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 16 จังหวัดที่เหลือจะจัดสรรเมื่อมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาอีก 3.คนต่างชาติกลุ่มเสี่ยงและคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ รวม 1.5 แสนโดส โดยการฉีดทั้งสองกลุ่มนี้จะทยอยส่งวัคซีนไปยัง รพ.ตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.นี้ คาดว่าจะเริ่มจัดบริการได้กลางสัปดาห์นี้ หรือเริ่มฉีดได้หลังจากฉีดบุคลากรทางการแพทย์หนึ่งสัปดาห์พอดี และ 4.สำหรับการวิจัย 5 พันโดส ซึ่งต้องวิจัยให้ได้ข้อมูลสำหรับประเทศไทยเอง ซึ่งอนาคตเราจะมีวัคซีนหลายตัว ก็อาจมีการฉีดข้ามชนิดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันสูง จึงต้องมีข้อมูลการศึกษาสำหรับคนไทย

เมื่อถามถึงการติดตามการฉีดวัคซีนใน 13 จังหวัด เพื่อไม่ให้มีการฉีดนอกกลุ่มจนมีข่าวฉีดวีวีไอพี นพ.โสภณ กล่าวว่า ทุก รพ.ระวังมาก โดยใช้เกณฑ์อายุ คือ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรังก็มีระบบทะเบียนอยู่แล้ว โดยจะฉีดคนที่ยังไม่ได้ฉีดมาก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน