เด็กติดโควิด-19 พุ่ง 1.8 หมื่นราย เสียชีวิตกว่า 10 ราย พบมีโรคประจำตัว เตรียมฉีดวัคซีนป้องกันเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว กรมสุขภาพจิต ชี้ กระทบจิตใจไม่ต่างกับผู้ใหญ่

เมื่อวันที่ 16 ส.ค.64 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมกับ ฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูเนิเซฟ ประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และ เครือข่ายกลุ่มเส้นด้าย แถลงข่าวเรื่อง ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์ติดเชื้อในเด็ก ล่าสุด วันที่ 11 ส.ค. ถือเป็นสัปดาห์ที่ 33 ของปี 2564 พบว่ามีผู้ป่วยเด็กสะสมเพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ที่ 16 มีผู้ป่วยเด็ก อายุแรกเกิด – 18 ปี สะสม 366 รายต่อสัปดาห์ แต่สัปดาห์ล่าสุดวันที่ 4-11 ส.ค. ผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้น 18,000 กว่าราย คิดเป็น 2-3 พันรายต่อวัน โดยมีเด็กเสียชีวิตสะสม 10 กว่าราย โดยพบว่าเด็กโตมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นด้วย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เด็กสามารถป่วยได้ทุกคน แต่ที่มีอาการรุนแรงส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุน้อย มีโรคทางพันธุกรรม โรคสมอง โรคหัวใจ ติดเตียง หัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิต ต้องเข้ารับเป็นผู้ป่วยใน(IPD) ความเสี่ยงเหมือนผู้ใหญ่ แต่หากเด็กโตไม่มีโรคร่วม ก็จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้ กรมการแพทย์ มีการใช้ระบบHome Isolation ให้แยกกักตัวที่บ้าน เหมือนผู้ใหญ่ และ กทม. จัดทำการแยกกักในชุมชน หรือศูนย์พักคอย (Community Isolation) ให้ผู้ป่วยเด็กโตอายุมากกว่า 7 ปี ในกรณีที่ไม่สามารถอยู่บ้านได้ ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตดุสิต และกำลังจะเปิดอีกแห่งในค่ายทหาร เขตดุสิต

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก(WHO) ทยอยประกาศวัคซีนที่ใช้ในเด็ก ซึ่งเราต้องติดตามใกล้ชิด วัคซีนบางตัวแม้กระทั่งไฟเซอร์ ใช้ในเด็กยังไม่มาก ยังไม่มีการติดตามผลข้างเคียงระยะยาว แต่เราชั่งแล้วว่า โควิดมันทำลายล้างทุกทฤษฎีที่เรารู้จัก อย่างเช่นปีที่แล้วเราบอกว่าวัคซีนมา มันจะจบแต่ปรากฎว่าไม่จบ การติดเชื้อแล้วไม่ติดซ้ำ ตอนนี้ก็ติดซ้ำได้ ตอนนี้อยู่ที่การชั่งในสถานการณ์จุดนั้นๆ ว่า ประโยชน์กับโทษ อะไรมากกว่ากัน โดยเราพบว่า ฉีดวัคซีนในเด็กอายุน้อยที่มีโรคร่วม สามารถลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้

“สถาบันสุขภาพเด็กฯ กำลังเตรียมตัวฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เด็กอายุน้อยต่ำกว่า 12 ปีที่มีโรคร่วม เพราะเราไปห้ามการแพร่เชื้อได้ยาก แต่จะทำอย่างไรเพื่อห้ามป่วยหนัก ห้ามเสียชีวิต วัคซีนจะเป็นคำตอบ ซึ่งเรากำลังเตรียมแนวทางให้วัคซีนในเด็ก ลดเพื่อการป่วยหนักและเสียชีวิตในเด็กที่มีโรคประจำตัว” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ 1-2 ปีข้างหน้าว่า โควิดจะคล้ายกับเรื่องไข้หวัดใหญ่2019 เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเป็นโรคหนึ่ง หรือทางระบาดวิทยาเรียกว่า โรคประจำถิ่น ที่สามารถติดเชื้อกันได้ วัคซีนที่พัฒนาต่อเนื่องจะเป็นตัวเข้ามาช่วยทำให้การติดเชื้อไม่ป่วยหนัก ไม่เสียชีวิต หรือป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งปลายปี 2565 โควิดก็อาจเป็นคล้ายไข้หวัดได้ แต่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาวัคซีนด้วยว่าจะลดการติดเชื้อ การป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้มากเท่าไหร่ เป็นพัฒนาการที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังทำการอยู่

ด้าน พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขเด็กที่ได้รับผลกระทบในแง่การสูญเสียคนที่เขารักจากโควิด ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่เราต้องการเข้าถึงเด็กกลุ่มดังกล่าว หลายครอบครัวเสียสมาชิกจากโควิดมากกว่า 1 ราย บางครั้งเด็กไม่ติดเชื้อแต่พ่อแม่เสียชีวิตจากโควิดทั้งคู่ แน่นอนว่า มีผลกระทบด้านจิตใจกับเด็กแน่นอน เด็กเสียใจกับการสูญเสียเหมือนผู้ใหญ่ มีอารมณ์ความเศร้า แต่ปฏิกิริยาต่างกัน เด็กต้องการคนที่อยู่รอบข้างมาช่วยให้ความเศร้าผ่านไป

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน