กรมการแพทย์ ย้ำยังไม่มียารักษาโควิดโดยตรง ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ใช้ในไทยพบว่าได้ผลดี ยิ่งใช้เร็วยิ่งลดอาการรุนแรงเป็นปอดบวม หากให้ยาช้าอาการจะเปลี่ยน

วันที่ 20 ส.ค.64 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวกรณียาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิผลต่อการรักษาโควิดหรือไม่ ว่า ทั่วโลกทุกวันนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสตัวไหนขึ้นทะเบียนว่าเป็นยารักษาโควิด 19 อย่างเป็นทางการ เพราะการจะรักษาได้ ต้องมีการทำการศึกษา ให้ยาตัวนี้กับยาหลอกและปกปิดคนไข้ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการทดลอง และไทยกำลังสั่งจองตัวนี้อยู่

แต่ตอนนี้ยังไม่มีตัวไหนขึ้นทะเบียนว่ารักษาได้ ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟาวิพิราเวียร์ คือ ยับยั้งการเพิ่มจำนวน RNA ของไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป และถูกร่างกายเรากำจัด ข้อบ่งใช้เป็นยาต้านไวรัสแบบกว้างๆ ทั่วไป รักษาไข้หวัดใหญ่ นำมาใช้รักษาอีโบลาได้ผล

“ช่วงระบาดแรกๆ ปีที่แล้ว มีรายงานจากจีนว่า ฟาวิพิราเวียร์ลดการติดเชื้อได้ดีกว่ายาต้านไวรัสตัวอื่น คือ ยาต้านเอชไอวี และการศึกษาของรัสเซีย ที่กำจัดเชื้อได้ดีกว่าการรักษาตามมาตรฐานในวันที่ 5 เมื่อเห็น 2 รายงานนี้ จึงทำแนวทางการรักษาฉบับแรก ซึ่งกำหนดว่าไม่ได้ใช้เร็ว และมีการปรับเป็นระยะมาตลอด

โดยข้อมูลของไทยที่ กรมการแพทย์ ร่วมกับคณะแพทย์เกือบทุกคณะใน กทม. และรพ.ใน กทม.รวบรวมคนไข้ 400 กว่าคนเมื่อปีที่แล้ว พบว่า ผู้ติดเชื้อที่รับยาฟาวิพิราเวียร์เร็ว ภายใน 4 วันหลังเริ่มมีอาการ พบว่า ได้ผล ลดอาการรุนแรงได้เกือบ 30% ค่ามัธยฐานหลังได้ยาทำให้คนไข้ดีขึ้น คนไข้ปอดบวมรุนแรงใช้เวลานานหน่อย คือ 17 วันจึงดีขึ้น ส่วนปอดบวมไม่รุนแรงดีขึ้นใน 9 วัน” นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ทบทวนรายงาน 12 การศึกษาในต่างประเทศเกี่ยวกับฟาวิพิราเวียร์ บางรายงานพบว่ามีประสิทธิผล บางรายงานไม่มีประสิทธิผล

ทั้งนี้ การศึกษาที่รวบรวมมา ผลมีความแปรปรวน เพราะศึกษาปริมาณยาขนาดไม่เท่ากัน การเปรียบเทียบการรักษากับยาอีกตัวหนึ่งก็แตกต่างกัน แต่ข้อมูลที่ HITAP สรุปคือ ยาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิผลลดอาการทางคลินิกใน 7 วัน และ 14 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์ จึงสนับสนุนแนวทางการรักษาฉบับล่าสุด คือฉบับที่ 17 ที่ให้เริ่มให้ยาฟาวิพิราเวียร์ให้เร็วที่สุด

จากการถามหมอหน้างานว่าใช้ยาแล้วเป็นอย่างไร ก็บอกว่า ให้เร็วแล้วดี ให้ช้าไม่ดี ค่อนข้างตรงกับ HITAP คือเมื่อเริ่มมีอาการให้ไป อาการจะดีขึ้น คนไข้ หมอคอนเฟิร์มตรงกัน เป็นประสบการณ์ในไทย” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ แนวทางเวชปฏิบัติในไทย ออกในนามกรมการแพทย์ ผ่านความเห็นคณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด 19 ที่มีกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย และคณะแพทย์ต่างๆ มาร่วมปรับไกด์ไลน์ ตามประสบการณ์และผลการศึกศสในต่างประเทศ รวมถึงพูดถึงยาใหม่ๆ ด้วย

“สธ.ยินดีรับฟังความเห็นแตกต่าง ยอมรับการระบาดในไทยค่อนข้างวิกฤต แม้เป็นวันแรกในรอบหลายสัปดาห์ที่ผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 2 หมื่นคน แต่ยังวางใจไม่ได้ เรารับความเห็นแตกต่าง แต่ต้องไม่แตกแยก เอาทุกความเห็นมานั่งคุยกัน ความเห็นที่แตกต่างทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลายได้ น่าจะมานั่งคุยกันให้เกิดการตัดสินใจที่ดีที่สุด สธ.น้อมรับคำวิจารณ์ทุกภาคส่วน ทั้งราชการ นอกราชการ ประชาสังคม เอ็นจีโอ ชุมชน หรือประชาชน แล้วมานั่งคุยกันบนหลักฐานเชิงประจักษ์ ถ้าร่วมแรงร่วมใจจะฝ่าวิกฤตไปได้” นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยสั่งจองยาฟาวิพิราเวียร์โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ อภ.จะผลิตเองด้วย เพื่อให้มียาใช้กับผู้ป่วยไม่ขาด การสั่งจองจะทยอยเอาเข้ามาเป็นระยะ และศึกษาผลการใช้ไปด้วย เพื่อดูผลรอบใหม่ตอนเชื้อเป็นเดลตาเป็นอย่างไร ซึ่งแพทย์หน้างานบ่นว่า ให้ยาช้ากว่า 5-6 วัน จะเป็นปอดบวม

ดังนั้นการให้เร็วจะดี ศิริราชถึงกับเปิดคลินิกฟาวิพิราเวียร์เป็นโอพีดี เพราะกลัวคนไข้ได้ยาช้า ผลการศึกษามีทั้งผลสนับสนุนและคัดค้าน จึงต้องเอาหลักฐานมารวบรวมเพื่อดูแลชาวไทยให้ดีที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน