สธ.ตั้งเป้าลดรุนแรงโควิดใน 4 เดือน ทยอยเปิดกิจการตามความเสี่ยง ลุยฉีดวัคซีน ป้องกันส่วนบุคคล ตรวจ ATK และ COVID Free Setiing

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เสนอเป้าหมาย กลยุทธ์ และมาตรการการควบคุมโรคแนวใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศให้ประชาชนใช้ชีวิตปลอดภัย เนื่องจากโรคโควิด 19 เป็นโรคอุบัติใหม่กระจายไปทั่วโลกเกือบ 2 ปี ทำให้ทั่วโลกได้ประสบการณ์การอยู่ร่วมกับโควิดมาอย่างต่อเนื่อง มีนวัตกรรมทั้งวัคซีน การตรวจห้องปฏิบัติการที่สะดวกขึ้น เชื่อว่าอนาคตจะมีวิธีรับมือและใช้ชีวิตกับโรคโควิดได้อย่างปลอดภัย เป้าหมาย คือ ลดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิดให้น้อยที่สุด โดยไม่กระทบการใช้ชีวิตของประชาชน

สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ในเดือน ส.ค.ค่อนข้างรุนแรง โดยเราแบ่งระดับความรุนแรงไว้ 5 ระดับ คือ สีแดงเข้มรุนแรงที่สุด สีแดงรุนแรง สีส้มปานกลาง สีเหลืองค่อนข้างปลอดภัย และสีเขียวปลอดภัย โดยเราพยายามทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นใน ก.ย.นี้ และลดมาอยู่ในสถานการณ์ปานกลางในช่วงต.ค. พ.ย.ดีขึ้น และ ธ.ค.น่าจะใช้ชีวิตแนวใหม่ได้อย่างปลอดภัย

เป้าหมายดำเนินการป้องกันโรคล่วงหน้าที่สำคัญ คือ การฉีดวัคซีน แม้วัคซีนทุกตัวในโลกไม่มีตัวใดป้องกันติดเชื้อ 100% แต่ทุกตัวที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยแนะนำ มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อลงได้ ลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ค่อนข้างดี

“เป้าหมายวัคซีนจะฉีดให้ครบ 100 ล้านโดสในปีนี้ โดยไล่เรียงตามกลุ่มเป้าหมาย พยายามฉีดกลุ่มเปราะบางติดเชื้ออาการรุนแรง คือ สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 กลุ่มโรคสำคัญ และหญิงตั้งครรภ์ หรือกลุ่ม 608 โดยเฉพาะ ก.ย.ตั้งเป้าฉีดเข็มแรกครอบคลุม 70% ของกลุ่ม 608 นี้ ในทุกจังหวัด จากนั้นจะฉีดกลุ่มอื่นทยอยต่อไป รวมทั้งกลุ่มเด็ก ซึ่งไฟเซอร์ฉีดในเด็ก 12 ปีขึ้นไปได้ จะเข้ามาปลาย ก.ย.นี้ จะทยอยฉีดประชาชนและกลุ่มเด็กต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป้าหมาย กลยุทธ์ และมาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ที่นำเสนอระหว่างแถลงข่าว พบว่า ระดับความรุนแรงสถานการณ์ ช่วง ส.ค.เป็นสีแดงเข้มคือรุงแรงสูงสุด เป้าหมายฉีดวัคซีนเข็มแรก 70% ในกลุ่ม 608 ของ 12 จังหวัด ส่วน ก.ย.จะลดความรุนแรงเป็นสีแดง โดยจะฉีดวัคซีนเข็มแรก 70% ในกลุ่ม 608 ครบทุกจังหวัด เริ่มผ่อนคลายการเดินทาง กิจการกิจกรรมจำเป็นมีความเสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลาง และกิจกรรมกลางแจ้ง ช่วง ต.ค.ลดความรุนแรงเป็นสีส้มระดับปานกลาง ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม 70% ในกลุ่ม 608 และเข็มแรก 50% ในประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เริ่มผ่อนคลายกิจการเสี่ยงสูงบางประเภทที่ผ่านการคัดกรองและมาตรการ ส่วน พ.ย.จะเป็นสีเหลือง คือค่อนข้างปลอดภัย มีเป้าหมายฉีดวัคซีนเข็มแรก 70% ของประชากรทั้งประเทศ และเข็ม 3 ในพื้นที่เสี่ยง เริ่มผ่อนคลายกิจการเสี่ยงสูงทุกประเภท และในช่ง ธ.ค. จะลดระดับให้เป็นสีเขียวคือมีความปลอดภัย ฉแยตั้งเป้าฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม 70% และเข็ม 3 ทั้งประเทศ

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า วัคซีนอย่างเดียวไม่ได้แก้ปัญหาหรือชะลอการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องร่วมมาตรการอื่นด้วย คือ 1.มาตรการป้องกันส่วนบุคคลขั้นสูงสุดตลอดเวลา (Universal Prevention) แม้ไม่พบความเสี่ยง ให้คิดว่าเราและคนรอบข้างอาจติดเชื้อและแพร่เชื้อได้โดยไม่รู้ตัว จึงใส่หน้ากากเสมอเมื่ออยู่กับคนอื่น หลีกเลี่ยงการเปิดหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น ลดการออกจากบ้านโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ไม่ไปสถานที่แออัด เว้นระยะห่าง ล้างมือ ทำความสะอาดพื้นผิว เป็นต้น ประเมินอาการตนเองเสมอ และตรวจ ATK ให้รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ในช่วงที่ผ่านมา 2.การคัดกรองด้วยวิธีต่างๆ โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้ออย่างง่ายด้วย ATK และ 3.มาตรการองค์กร เพราะเวลาเกิดระบาดแล้วมีจำนวนติดเชื้อมากๆ ส่วนใหญ่เกิดในองค์กร เช่น โรงงาน แคมป์คนงานที่แออัด สถานที่ทำงาน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน โรงงาน ต้องมีมาตรการที่จะร่วมกันดำเนินการ

นพ.โอภาสกล่าวว่า ถ้าสามารถดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งฉีดวัคซีน ป้องกันส่วนบุคคล ตรวจคัดกรอง และสถานที่ทำงานได้ จะสามารถเปิดกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์การควบคุมโรคที่เสนอ ศบค. และ ศบค.เห็นชอบในหลักการ โดยมอบทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐและเอกชนสื่อสารทำความเข้าใจประชาชน ให้ดำเนินการมาตรการต่างๆอย่างต่อเนื่อง

“โดยสรุปสถานการณ์ติดเชื้อขณะนี้ไทยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเริ่มชะลอตัวลง สัญญาณต่างๆ บ่งว่าน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง โอกาสพบผู้ติดเชื้อมีมากขึ้น ต้องขอความร่วมมือมาตรการป้องกันตนเองส่วนบุคคล ไปฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน ขอบคุณประชาชนที่ร่วมกันควบคุมโรคด้วยควาอดทนและเสียสละ แต่เชื้อมีการกลายพันธุ์ หลายประเทศที่ควบคุมได้ดี เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เวียดนาม ล้วนเจอเดลตาทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ภายภาคหน้าอาจมีสิ่งที่เราไม่รู้ อุปสรรค และเชื้อกลายพันธุ์เกิดขึ้น ถ้าพวกเราร่วมแรงใจฝ่าฟันไป เราก็สามารถดำรงชีวิตใกล้เคียงปกติในอนาคตอันใกล้” นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามว่าผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และมีผลตรวจปลอดโควิด เมื่อเข้าประเทศไทยยังต้องกักตัวหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้คนมาจากต่างประเทศต้องกักตัว 14 วัน การฉีดวัคซีนช่วยลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ แต่ไม่ 100% และการตรวจเชื้อเป็นระยะจะตรวจคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการได้ เรามีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ให้ชาวต่างชาติฉีดวัคซีนครบ และมีการตรวจเชื้อเป็นระยะ ก็สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติในช่วงกักตัว 14 วัน ไปไหนมาไหนได้ ผู้เกี่ยวข้องด้านการแพทย์และสาธารณสุขจะเอามาประเมินอีกที คงมีมาตรการกักตัวที่จะพิจารณาทั้งการฉีดวัคซีน และการตรวจเชื้อเป็นระยะมาใช้ต่อไป ช่วงนี้ยังต้องระวัง เพราะพบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเป็นระยะ ยังใช้การกักตัว 14 วัน แต่อาจมีการลดวันกักตัวลง ต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

เมื่อถามว่าจากการกลายพันธุ์ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเลขภูมิคุ้มกันหมู่ 70% หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันหมู่กี่เปอร์เซ็นต์ขึ้นกับหลายปัจจัย คือ เชื้อโรคกระจายเร็วแค่ไหน แต่ละตัวมีวัคซีนที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แตกต่างกัน แม้เชื้อเดียวกัน เช่น โควิด 19 มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ช่วงแรกสายพันธุ์ดั้งเดิมแพร่ไม่รวดเร็ว พอเป็นเดลตาแพร่กระจายเชื้อสูงมากขึ้น การคิดเรื่องภูมิคุ้มหมู่ปรับเปลี่ยนไปตามเชื้อกลายพันธุ์ และยังขึ้นกับพื้นที่นั้นๆ ว่าแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน หรือความสามารถระบาดของโรคมากน้อยแค่ไหน ต้องเอามาประกอบกัน ค่าผันแปรจึงขึ้นกับแต่ละที่ แต่ละเวลา รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจากเชื้อไวรัสตามธรรมชาติ

“เดิมเราวางแผนฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% คิดเป็นตัวเลข 50 ล้านคน ทั้งประชาชนคนไทย และผู้ที่อาศัยในแผ่นดินไทย ตามนโบยายรัฐบาลถ้าต้องการฉีดก็จะจัดหามาฉีดตามความสมัครใจ ซึ่งตัวเลขสิ้น ธ.ค.แผนจัดหาได้ประมาณ 140 ล้านโดส ถ้าดูตามตัวเลขนี้ก็คงฉีดให้ทุกคนในแผ่นดินไทยได้ ตอนนี้เชื่อว่าถ้าทุกคนต้องการฉีด เราฉีดเกิน 70% แน่นอน ส่วนตัวเลขเป้าหมายจะปรับอย่างไร ให้คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณา” นพ.โอภาสกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน