ยังไม่เจอในไทย โควิดสายพันธุ์มิว หลัง WHO ขึ้นลิสต์ เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังตัวที่ 5 หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ ยังไม่พบหลักฐานว่าจะรุนแรง

วันที่ 2 ก.ย.64 ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์กรณีองค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์มิว (Mu) หรือ B.1.621 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง (Variants of Interest :VOI) ว่า สายพันธุ์มิวถูกพบครั้งแรกที่โคลัมเบีย เมื่อ ม.ค.2564 ในฐานข้อมูลกลางโควิดโลก (GISAID) มีการเผยแพร่ข้อมูลที่พบการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น

และมีการถอดรหัสพันธุกรรมพบการกลายพันธุ์ที่ต่างจากสายพันธ์ดังเดิมอู่ฮั่นค่อนข้างมากถึง 50-60 ตำแหน่ง จึงเป็นปัจจัยทำให้ WHO พิจารณายกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังตัวที่ 5 จากที่ก่อนหน้ามี 4 สายพันธุ์ คือ อีตา (Eta- B.1.525) ระบาดในหลายประเทศ , ไอโอตา (Iota – B.1.526 ) ระบาดในสหรัฐอเมริกา , แคปปา (Kappa- B.1.617.1) ระบาดในอินเดีย และ แลมบ์ดา (Lambda- C.37) ระบาดในเปรู

“สายพันธุ์เหล่านี้ถูกจัดเป็นกลุ่มสีเหลืองที่ความรุนแรงยังต่ำกว่าสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern :VOC) เป็นกลุ่มสีแดงมี 4 ตัวที่ระบาดในขณะนี้ คือ เดลตา , อัลฟา , เบตา และแกมมา สำหรับสายพันธุ์มิวระบาดอยู่ในประเทศที่ไกลจากบ้านเรา และประเทศในแถบเอเชียรวมถึงไทยก็ยังไม่พบรายงานการระบาด ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกที่บ่งชี้ว่าจะรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่รหัสพันธุกรรมบ่งชี้ว่าอาจจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้” ดร.วสันต์ กล่าว

ดร.วสันต์ กล่าวต่อว่า ความกังวลที่ถูกจัดให้เฝ้าระวัง ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับวัคซีนป้องกัน เนื่องจากเกรงว่าวัคซีนที่ฉีดเข้าไปหรือแอนติบอดี้สังเคราะห์ที่ฉีดเข้าไปจะไม่ตอบสนอง ดังนั้นจึงต้องรีบศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการ แต่ไม่ได้หมายความว่าในร่างกายมนุษย์จริงๆ จะเป็นเช่นนั้น บ่อยครั้งที่เรากังวลใจทำให้เกิดการเฝ้าระวังเป็นสิ่งที่ดี เช่น สายพันธุ์เบตาที่ระบาดในนราธิวาส แต่เมื่อศึกษาพบการแพร่ระบาดไม่ได้เพิ่มจำนวนมากเท่าเดลตาหรืออัลฟา กระทรวงสาธารณสุขก็ควบคุมจำนวนจนเรียกได้ว่าเอาอยู่ อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังสายพันธุ์มิวสำหรับประเทศไทย ต้องเข้มงวดระบบการเฝ้าระวังคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งในสถานกักตัวผู้มาจากต่างประเทศและโครงการแซนด์บ็อกซ์

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สัปดาห์หน้ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมแถลงความคืบหน้า การตรวจหาเชื้อโควิดในสายพันธุ์ กลุ่ม AY หรือ C.1.2 และสายพันธุ์มิว ล่าสุด ยังไม่พบทั้งสายพันธุ์ C.1.2 หรือ มิว ในไทย เข้าใจว่าการเผยแพร่ข่าวการพบสายพันธุ์ต่างๆ มาจากการอ่านข่าวข้อมูลจากต่างประเทศ อย่าเพิ่งรีบตกใจหรือกังวล มาตรการต่างๆ ทั้งสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และมีระยะห่างยังเป็นกลไกป้องกันควบคุมโรคที่ดีที่สุด

 

ส่วนเมื่อมีการผ่อนปรนกิจกรรมและกิจการ เช่น นั่งรับประทานอาหารในร้าน ขอย้ำว่าการตรวจด้วยชุดทดสอบ ATK สามารถช่วยคัดกรองได้ระดับหนึ่ง แม้จะไม่ไวเท่า RT-PCR แต่มีราคาถูกกว่า หากอนาคต ATK ถูกลงเรื่อยๆ เพียงชุดละ 60 บาท เชื่อว่าการตรวจคัดกรองในระดับบุคคลจะเพิ่มมากขึ้น และเกิดความคุ้มค่ามากกว่า เพราะต้นทุนการตรวจ RT-PCR สุ่มตรวจ 1 แสนคน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,500 บาทต่อคน รวมค่าใช้จ่ายสูงถึง 150 ล้านบาท

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน