โควิดในไทยยังเป็นเดลตา จ่อปรับแนวทางตรวจ เน้นต่างจังหวัด ให้ครบ 1 หมื่นตัวอย่างในสิ้นปี หวังเห็นภาพรวมประเทศ ยังไม่เจอสายพันธุ์มิว-C.1.2 ในไทย

เมื่อวันที่ 6 ก.ย.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้มี 3 สายพันธุ์ในไทย คือ อัลฟา เดลตา และเบตา โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจ 1,500 ตัวอย่าง พบว่า เป็นเดลตา 1,417 ตัวอย่าง คิดเป็น 93% อัลฟา 75 ตัวอย่าง คิดเป็น 5% และเบตา 31 ตัวอย่าง คิดเป็น 2% เฉพาะใน กทม. เป็นเดลตาสัดส่วน 97.6% ภูมิภาคสัดส่วนอยู่ที่ 84.8%

สถานการณ์ปัจจุบันเดลตาครองเมือง พบทุกจังหวัด ในแต่ละสัปดาห์พบมากพบน้อยแตกต่างกันไป ส่วนสายพันธุ์เบตาจำกัดวงอยู่ภาคใต้ ที่เคยเจอในกทม.และบึงกาฬ จบไปแล้ว ไม่พบจังหวัดอื่น โดยสัปดาห์ล่าสุดพบในเขตสุขภาพที่ 12 คือ นราธิวาส 28 ราย ปัตตานี 2 ราย และยะลา 1 ราย

“ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันตรวจไปแล้วเกือบ 13 ล้านตัวอย่างด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ซึ่งมีส่วนที่ไม่ได้รายงานเข้าระบบจำนวนหนึ่ง ในช่วงที่ชุลมุนมากๆ บางแล็บอาจไม่ได้รายงานข้อมูลครบถ้วน เข้าใจว่าอาจถึง 15 ล้านตัวอย่างแล้ว นับเป็นตัวเลขไม่น้อย ยิ่งช่วงหลังระบาดมากก็ตรวจมากขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดเกิดขึ้นตลอดเวลา ขณะนี้มีเป็นร้อยเป็นหางว่าว องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการจัดชั้น เริ่มต้นเรียกว่า การกลายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ (VOI) เช่น อาจแพร่หรือดื้อต่อวัคซีนได้ หรือมีความผิดปกติมากขึ้น ส่วนชั้นที่น่าห่วงและกังวล (VOC) ขณะนี้มีอยู่ 4 ตัว คือ อัลฟา เดลตา เบตา และแกมมา ซึ่งแกมมาเป็นสายพันธุ์บราซิลเดิม ไม่พบในไทย เคยพบในสเตท ควอรันทีน แต่ควบคุมได้ ไม่มีหลุดออกไป ประเทศไทยจึงมีอัลฟา เดลตา และเบตา โดยลักษณะแตกต่างกัน

“ส่วนสายพันธุ์มิว (Mu) หรือ B.1.621 ยังถูกจัดชั้นว่าอยู่ในความสนใจ แต่ยังไม่ใช่สายพันธุ์น่ากังวล ทั่วโลกยังพบน้อยมาก 0.1% สหรัฐอเมริกาเจอ 2,400 ตัวอย่าง โคลัมเบียเจอ 965 ตัวอย่าง เม็กซิโก 367 ตัวอย่าง สเปน 512 ตัวอย่าง เอกวาดอร์ 170 ตัวอย่าง และมีที่ญี่ปุ่นเล็กน้อย ยังไม่ได้พบในอาเซียน โดยโคลัมเบียเจอเป็นที่แรกเจอประมาณ 40% ปัจจุบันพบแล้วใน 39 ประเทศ ยังต้องติดตามต่อไป เพราะมีการกลายพันธุ์ที่ E484K พบว่าหลีกหนีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้ดีกว่าเดิม แต่ยังไม่มีรายงานเรื่องอื่น

ส่วนแพร่เร็วหรือไม่ข้อมูลยังไม่ได้ยืนยันเมื่อเทียบกับเดลตา ติดเชื้อง่ายหรือไม่ก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ และยังไม่มีหลักฐานว่าคนที่ป่วยแล้วกลับมาป่วยอีกมากน้อยแค่ไหน โดยรวมจึงยังไม่น่าวิตก แต่ติดตามต่อเนื่อง” นพ.ศุภกิจกล่าว

สำหรับสายพันธุ์ C.1.2 ก็ยังไม่ได้ถูกจัดชั้นอะไรทั้งหมด และยังไม่ได้ถูกจัดชื่ออะไร โดยสายพันธุ์ C.1.2 นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบว่า มีการกลายพันธุ์ในจุดตำแหน่งที่เคยอยู่ในเบตา แกมมา เช่น E484K ซึ่งพวกนี้หลบภูมิคุ้มกันหรือดื้อวัคซีน และตำแหน่ง N501Y ของอัลฟาที่แพร่เร็ว เป็นต้น ดังนั้น การกลายพันธุ์ในหลายๆ ตำแหน่งของ C.1.2 ทำให้ต้องจับตาดู

แต่ขณะนี้ยังค่อนข้างจำกัด ทั้งโลกพบมากในแอฟริกาใต้ คือ 117 รายคิดเป็น 85% ของที่เจอทั้งหมด แต่ไม่ได้แปลว่าแอฟริกาใต้มีมาก เพราะมีสายพันธุ์อื่นๆ ร่วมด้วย โดยแอฟริกาใต้พบ C.1.2 เพียง 3% ส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตา และไทยเฝ้าระวังมาตลอด ปัจจุบันยังไม่เจอในประเทศ

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเฝ้าระวังสายพันธุ์สัปดาห์ละพันกว่าราย รวมการตรวจ RT-PCR และตรวจจีโนมทั้งตัว เดิมเคยกำหนดว่า กลุ่มที่มาจากต่างประเทศ อยู่ชายแดน บุคลากรการแพทย์ คนอาการหนักตรวจกลุ่มนี้มากขึ้น และกระจายพื้นที่มากๆ หรือมีคลัสเตอร์แปลกๆ ซึ่งการสุ่มตรวจแบบนั้นเป็นลักษณะหาของใหม่ที่จะหลุดเข้ามา แต่อาจไม่ได้บอกเป็นตัวแทนการติดเชื้อในไทย จึงจะขอปรับกลุ่มเป้าหมาย และจะตรวจให้มากขึ้น

ซึ่งรายละเอียดจะพิจารณาว่า จะเป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นความชุกของไทย จากอดีตตรวจ กทม.มาก ต่างจังหวัดน้อยกว่า อาจไม่เหมาะในการบอกภาพรวม จึงต้องปรับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเข้ามาใหม่ต้องดักให้เจอ และข้อมูลของเราต้องเป็นตัวแทนภาพรวมของประเทศได้

โดยจะมีความร่วมมือกับ ม.สงขลานครินทร์ (มอ.) จากนี้ถึง ธ.ค.2564 จะตรวจให้ได้ 1 หมื่นตัวอย่าง โดยจะมีน้ำยาให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์แต่ละพื้นที่ไปตรวจ อย่างวันนี้ให้ทางภูเก็ตตรวจเพิ่มขึ้น ให้รู้ว่าที่ภูเก็ตมีเดลตากี่เปอร์เซ็นต์ โดยการตรวจพันธุกรรมทั้งตัว มีที่กรมวิทย์ และเครือข่าย ทั้ง มอ. จุฬาฯ รามาฯ โดยกรมวิทย์ตรวจประมาณ 9 พันตัวอย่าง เครือข่ายอีก 4 พันตัวอย่าง จากนั้นจะรายงานศูนย์ข้อมูลระดับโลก (GISAID) ทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งการรายงานบ่อยๆ อาจเจอสายพันธุ์ที่พบในไทยก็ได้ ดังนั้น อย่าตกใจ

“สำหรับสายพันธุ์ที่เคยแถลงก่อนหน้านี้ คือ AY ของเดลตา มี AY 12 เพิ่มเล็กน้อย แต่ GISAID บอกว่า ตัวเลขรหัสอาจไม่ถูกต้อง จึงขอเคลียร์ระดับโลกก่อน และจะชี้แจงอีกครั้งว่า ลูกของเดลตาไปถึงไหนอย่างไร แต่วันนี้ไม่มีปัญหา การรักษาพยาบาลยังเหมือนเดิม” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน