หมอโอภาส เผย ไทยฉีดวัคซีนโควิดแล้ว 40 ล้านโดส พบเสียชีวิต 628 ราย พิจารณาแล้วเกี่ยวข้องกับวัคซีนจริงๆแค่รายเดียว จากภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมเกล็ดเลือดต่ำ

เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยวัคซีนโควิด 19 แล้วเกือบ 40 ล้านโดส คาดว่าสิ้น ก.ย.นี้น่าจะฉีดได้ 45 ล้านโดส จากการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด 4 ตัวที่ใช้ในไทย ใช้มากที่สุดคือ แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และไฟเซอร์ พบว่าผลข้างเคียงคล้ายกัน คือ ไข้ ปวดศีรษะ เวียนหัว ถือว่าไม่รุนแรง พัก 1-2 วัน ทานยาลดไข้แก้วิงเวียนก็ดีขึ้น

แต่ที่เราติดตามคืออาการรุนแรง โดยเฉพาะการแพ้วัคซีน ซึ่งซิโนแวคพบ 24 ราย คิดเป็น 0.1 ต่อแสนโดส รักษาหายปกติทุกราย, แอสตร้า พบ 6 ราย คิดเป็น 0.04 ต่อแสนต่อโดสหายเป็นปกติ, ซิโนฟาร์ม พบ 193 ราย คิดเป็น 4.46 ต่อแสนโดส แต่ต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติม เพราะการฉีดยังไม่มากพอ

ส่วนภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำหลังฉีดแอสตร้าฯ พบ 5 ราย คิดเป็น 0.03 ต่อแสนโดส ขณะที่ไฟเซอร์ที่พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ประเทศไทยพบ 1 รายหลังฉีด 1 ล้านโดส คิดเป็น 0.1 ต่อแสนโดส รักษาหายปกติ ภาพรวมถือว่าวัคซีนหลักที่เราใช้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ หากพบสัญญาณไม่ปลอดภัยจะแจ้งเตือนประชาชนต่อไป

ส่วนการเสียชีวิตหลังรับวัคซีนนั้น โดยทั่วไปเมื่อฉีดวัคซีนจะมีการติดตามไป 1 เดือน หากมีอาการผิดปกติเข้า รพ.หรือเสียชีวิต ต้องพิสูจน์เกิดจากวัคซีนหรือไม่ โดยจะขอชันสูตรเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณา จากการฉีดเกือบ 40 ล้านโดส มีรายงานเสียชีวิต 628 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว 416 ราย ส่วนใหญ่ คือ 249 รายไม่เกี่ยวกับวัคซีน เช่น ติดเชื้อในระบบประสาท ปอดอักเสบรุนแรง ติดเชื้อในกระแสเลือด มะเร็ง เลือดออกในช่องท้อง และรับประทานเห็ดพิษเสียชีวิต

ส่วนอีก 32 รายยังไม่สามารถสรุปได้ และพบเกี่ยวกับวัคซีน 1 ราย คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมเกล็ดเลือดต่ำ หลังฉีดไปเกือบ 40 ล้านมีรายเดียวเกี่ยวข้องกับวัคซีนถือว่า มีความปลอดภัย มีประโยชน์มากกว่าเมื่อเทียบกับอาการไม่พึงประสงค์ จึงให้ฉีดต่อไปในระดับประเทศ

สำหรับอาการลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (VITT) เป็นกลุ่มโรคใหม่ เกิดได้จากการฉีดแอสตร้าฯ ต่างประเทศพบมาก 0.7 ต่อแสนโดส ไทยพบไม่กี่ราย 0.03 ต่อแสนโดส น้อยกว่าต่างประเทศเกือบ 10 เท่า มีผู้ป่วยสงสัย VITT 5 ราย ยืนยันว่าเป็น VITT รายเดียว เข้าข่าย 2 ราย และสงสัย 2 ราย ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเกิดได้น้อยมาก รักษาหายได้ถ้าวินิจฉัยรวดเร็ว จึงต้องเร่งรัดให้บุคลากรทราบภาวะ VITT เพื่อวินิจฉัยโรครวดเร็ว เพิ่มพัฒนาการตรวจห้องปฏิบัติการ

สำหรับประชาชน หากฉีดวัคซีนแล้วปวดหัวรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ปากหรือหน้าเบี้ยวคล้ายอัมพฤกษ์ เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ขาบวม ปวดท้องรุนแรง หรือพบจุดเลือดออก ภายหลังรับวัคซีน 4-30 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ และแจ้งว่ารับวัคซีนอะไรเพื่อวินิจฉัยต่อไป อาการเหล่านี้เกิดไม่บ่อย วัคซีนยังมีความปลอดภัยสูง

ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีน mRNA นั้น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โรคโควิดก็ทำให้เกิดได้ ความชุกการเกิดปกติอยู่ที่ 10 รายต่อแสนราย ส่วนประเทศไทยปกติพบ 2-3 ต่อแสนคน สำหรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 8 แสนกว่าโดส พบ 1 ราย คิดเป็น 0.1 ต่อแสนโดส เป็นชาย มีอาการแน่นหน้าอก ไม่พบติดเชื้ออื่น ไม่รุนแรงรักษาหายปกติ ดังนั้น หากฉีดวัคซีน 4-30 วัน มีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก ให้แจ้งแพทย์ดูแลรักษาต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน