ศบค.เผยทุกพื้นแนวโน้มติดโควิดลด ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 7 วัน อาการหนักก็ลดลง แต่ 4 จังหวัดใต้ยังสูง หลายจังหวัดติดเชื้อเกิน 100 ราย ห่วงติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ

เมื่อวันที่ 22 ก.ย.64 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ปฏิบัติหน้าที่แทนโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำวัน ว่า วันที่ 21 ก.ย. ฉีดวัคซีนโควิดเพิ่มขึ้น 811,915 โดส สะสม 46,023,016 โดส

แบ่งเป็นเข็มแรก 29,501,110 ราย คิดเป็น 41% ของประชากร เข็มสอง 15,899,158 ราย คิดเป็น 22.1% ของประชากร ระยะห่างจากเข็มหนึ่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ การฉีดสูตรไขว้ระยะห่าง 3 สัปดาห์ เชื่อว่าจะทำให้ความครอบคลุมเข็มสองเข้าใกล้เข็มหนึ่งมายิ่งขึ้น และเข็มสาม 622,748 ราย

ความครอบคลุมกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคสูง ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ครอบคลุม 63% โดยมี กทม. ปทุมธานี และฉะเชิงเทรา ฉีดเกิน 70% แล้ว ส่วนที่เกิน 50% ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครนายก พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี และประจวบคีรีขันธ์

ส่วนอีก 48 จังหวัดที่เหลือภาพรวมฉีดแล้ว 48.9% ค่าเฉลี่ยภาพรวมประเทศเข็มแรกของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 55% โดยเป้าหมายสิ้น ก.ย.นี้คือกลุ่ม 608 ฉีดเข็ม 1 ได้ 70% ส่วน ต.ค.กลุ่ม 608 ต้องได้ 2 เข็ม 70% และประชากรอื่นๆ ได้เข็มแรก 50%

“จังหวัดที่ฉีดประชากรทั่วไปมากกว่า 50% คือ กทม., ปทุมธานี, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, พระนครศรีอยุธยา, พังงา, ภูเก็ต และระนอง ส่วนสูงอายุเกิน 70% ได้แก่ กทม., ปทุมธานี, ฉะเชิงเทรา, ภูเก็ต, พังงา และระนอง โดยจะมีการรณรงค์ใหญ่วันมหิดล ฉีดวัควีนโควิด 19 ให้ได้ 1 ล้านโดส รวมทุกเข็มทั้งเข็มแรก เข็มสอง และเข็มกระตุ้น” นพ.เฉวตสรร กล่าว

ผอ.กองควบคุมโรคฯ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ติดเชื้อวันนี้ 11,252 ราย จำนวนนี้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 7 ราย และติดเชื้อในเรือนจำ 28 ราย สะสม 1,511,357 ราย หายป่วยเพิ่ม 13,659 ราย สะสม 1,366,533 รายอยู่ระหว่างการรักษา 129,071 ราย อยู่ใน รพ. 41,088 ราย รพ.สนามและอื่นๆ 87,983 ราย มีอาการหนัก 3,464 ราย ลดลงจากวันที่ 1 ก.ย.ที่มี 4,917 ราย หรือลดลง 1.5 พันราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 753 ราย ลดลงจากวันที่ 1 ก.ย. ที่มี1,040 ราย

ส่วนผู้เสียชีวิต 141 ราย สะสม 15,753 ราย มาจาก เป็นชาย 76 ราย หญิง 65 ราย อายุ 21-99 ปี ค่ากลางเฉลี่ย 70 ปี พบเป็นอายุ 60 ปีขึ้นไป 77% โรคเรื้อรัง 20% ไม่พบการเสียชีวิตนอก รพ. สำหรับ 10 จังหวัดแรกที่ติดเชื้อสูงสุด มี กทม.จังหวัดเดียวที่เกินพันราย คือ 2,455 ราย

“แนวโน้มการติดเชื้อทั้งประเทศลดลงในทุกพื้นที่ แต่ภาคใต้ 4 จังหวัดดูมีแนวโน้มยกตัวขึ้น หากสูงขึ้นเกินค่าเฉลี่ย 7 วัน อาจจะเห็นเป็นสีแดง ภาพรวมยังคงตัว ไม่ได้ลดลงต่อเนื่อง เกี่ยวข้องกับการพบคลัสเตอร์ต่างๆ ทำให้เห็นพื้นที่เป็นสีแดง

เพราะเมื่อเจอผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน ก็ต้องไปหาผู้สัมผัสใกล้เคียงร่วมบ้าน ร่วมกิจกรรม ร่วมงาน โดยพื้นที่สีแดง สีส้มยังใกล้เคียงกันในทุกวัน แต่บางส่วนที่เปลี่ยนสีลงมาเป็นสีส้ม สีเหลือง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานและเหนือ เช่น สกลนคร อุดรธานี และนครพนม” นพ.เฉวตสรร กล่าว

ทั้งนี้ หลายพื้นที่ที่เป็นสีแดงหรือติดเกิน 100 ราย เจอการติดเชื้อคลัสเตอร์เล็กๆ เช่น ล้งผลไม้ จ.จันทบุรี ราชบุรี โรงงาน จ.ตราด สงขลา โรงเรียนนายร้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่พบการติดเชื้อในพนักงานร้านอาหารด้วย เพราะจะเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่ต้องให้ความสำคัญการป้องกันคลัสเตอร์การควบคุมการระบาดคลัสเตอร์ต่างๆ โดยเร็ว

ส่วนงานบุญประเพณีต่างๆ ที่ผ่านมา เจอในเรื่องของงานศพ อยากให้ใช้มาตรการป้องกัน ลดกิจกรรมบางส่วนที่ทำให้คนหนาแน่น สวมหน้ากากตลอดเวลา งานบุญ งานกฐิน เกษียณ กินเจ ก็ต้องให้ความสำคัญด้วย ทั้งหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ ความร่วมมือของประชาชนที่จะช่วยให้ก้าวผ่านไปด้วยกันได้

จากการทำแผนที่อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนช่วงวันที่ 12-18 ก.ย. ในระดับอำเภอ หากติดเชื้อน้อยกว่า 5 รายต่อแสนประชากร พบว่ามีจำนวนมาก จึงขอให้แต่ละพื้นที่ดูแลกันอย่างดี ก็จะทำให้พื้นที่ระดับอำเภอเป็นสีเขียว โดยเฉพาะภาคเหนือ อีสาน ที่เป็นสีเขียวจำนวนมาก

“แนวโน้มของโลกก็กำลังลดลง กทม.ปริมณฑล ลดลงต่อเนื่อง การป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจลดลงเช่นกัน แต่การป้องกันความเสี่ยง คลัสเตอร์เล็กๆ พื้นที่ต่างๆ ต้องเข้มงวดต่อไป เพื่อให้การลดลงของการระบาดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ” นพ.เฉวตสรร กล่าว

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน