กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วม มอ. วิจัยฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 เข้าชั้นผิวหนัง ใช้เพียง 1 ใน 5 โดส แต่ได้ภูมิคุ้มกันสูง ไม่ต่างฉีดเข้ากล้าม เผยผลข้างเคียง

เมื่อวันที่ 22 ก.ย.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวผลการวิจัยภูมิคุ้มกัน และความปลอดภัยจากการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข้าผิวหนัง ว่า ต้องฝากสื่อมวลชน เนื่องจากได้ยินผู้เล่าข่าวเข้าใจเรื่องนี้คลาดเคลื่อน การฉีดวัคซีนโดยทั่วไปมี 3 แบบ คือ 1.เข้ากล้ามเนื้อ เหมือนที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ทุกวันนี้ โดยปักลงไปตรงๆ 90 องศา ทะลุชั้นผิวหนัง ชั้นใต้ผิวหนัง ไปจนถึงกล้ามเนื้อ มีหลายวัคซีนฉีดแบบนี้ เช่น คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน พิษสุนัขบ้า

2.ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง แทงทะลุผิวหนังเข้าไปในชั้นไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนัง เช่น วัคซีนรวมหัด คางทูม และหัดเยอรมัน วัคซีนไข้สมองอักเสบ

3.ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง แทงเข็ม 45 องศาเข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งมีความหนาไม่มากเพียง 1 มิลลิเมตร จึงมีความยากกว่าการฉีด 2 วิธีก่อนหน้า คนฉีดต้องมีทักษะและประสบการณ์ จึงฉีดได้สำเร็จ เช่น วัคซีน BCG ลดความรุนแรงของวัณโรค หรือวัคซีนพิษสุนัขบ้า เดิมฉีดเข้ากล้าม แต่พบว่าฉีดเข้าชั้นผิวหนังได้ผลเท่ากัน แต่ประหยัดกว่า ซึ่งเคยปฏิบัติมาก่อนแล้ว

“ถ้าอยากฉีดชั้นผิวหนังแต่ทะลุไปชั้นใต้ผิวหนัง ก็จะไม่เกิดผลตามต้องการ ดังนั้น ย้ำว่างานวิจัยที่จะพูดถึงนี้คือการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ไม่ใช่ใต้ผิวหนัง” นพ.ศุภกิจ กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า หลายประเทศเริ่มคิดเรื่องฉีดใต้ผิวหนัง เพราะทั่วไปการฉีดเข้าชั้นผิวหนังมีเส้นเลือดมากมาย จะใช้จำนวนวัคซีนน้อยกว่า อาจจะน้อยกว่าถึง 1 ใน 5 แต่ได้ผลเท่ากัน เท่ากับวัคซีนที่ฉีด 1 คน แต่ฉีดได้ 5 คน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินการวิจัยการฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 หรือบูสเตอร์โดส ในคนฉีดซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม เปรียบเทียบกัน 3 กลุ่ม คือ 1.ฉีดเข้ากล้ามแบบเดิม ห่าง 4-8 สัปดาห์ 2.ฉีดเข้าชั้นผิวหนังห่าง 4-8 สัปดาห์ และ 3.ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ห่าง 8-12 สัปดาห์ โดยเจาะเลือดมาดูว่าเรื่องความปลอดภัยและภูมิคุ้มกัน

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า เรื่องผลข้างเคียง พบว่าการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง จะเกิดอาการเฉพาะที่คือบริเวณจุดที่ฉีดเยอะกว่าฉีดเข้ากล้าม โดยเฉพาะการเกิดตุ่ม บวม แดง อักเสบ ร้อน แต่เกิดอาการทางระบบของร่างกายที่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นน้อยกว่าเข้ากล้าม เช่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ

ส่วนภูมิคุ้มกันตรวจใน 2 ส่วน คือ 1.แอนติบอดีในน้ำเลือด ซึ่งซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิขึ้น 100 กว่าๆ ถ้าฉีดกระตุ้นไม่ว่าเข้ากล้ามหรือชั้นผิวหนังห่าง 4-8 สัปดาห์หรือ 8-12 สัปดาห์ เกิดภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกัน โดยฉีดเข้ากล้ามภูมิขึ้นประมาณ 1,600 เข้าผิวหนัง 1,300 ทั้ง 2 ระยะ ทำให้ประหยัดวัคซีนลงไป แต่ได้ภูมิขึ้นมาสูง และเมื่อนำมาสู้กับเดลตาผลไม่แตกต่างกันมาก การฉีดเข้าชั้นผิวหนังยังจัดการเรื่องเดลตาได้ โดยภูมิขึ้นระดับ 200 กว่า

และ 2. ปฏิกิริยาของเซลล์ที่ช่วยกำจัดเชื้อโรคออกจากร่างกาย โดยซิโนแวค 2 เข็ม การตอบสนองของเซลล์ขึ้นมา 32 ถ้าฉีดบูสต์เข้ากล้ามขึ้นมา 52 ส่วนฉีด 1 ใน 5 เข้าชั้นผิวหนัง เกิดภูมิขึ้นมา 52 และ 58 ใน 2 ระยะ แทบไม่ต่างกัน คือกระตุ้นให้เซลล์มากำจัดไวรัสได้เมื่อเทียบกับฉีดเข้ากล้าม ซึ่งขณะนี้ยังมีคนทำงานวิจัยแบบนี้หลายคณะ ข้อมูลจะทยอยออกมา จะบอกได้ว่าปลอดภัยแค่ไหน ภูมิขึ้นแค่ไหน

แต่สรุปคือทุกวันนี้ยังฉีดแบบเดิมเข้ากล้าม ยกเว้นพื้นที่ไหน ที่ต้องการประหยัดวัคซีนและมีความพร้อม คือ เจ้าหน้าที่ฉีดชั้นผิวหนังฝึกทักษะมาแล้วอย่างดี บริหารจัดการได้ เพราะใช้เวลาฉีดต่อคนมากกว่า เนื่องจากมีความยากกว่า ผิวหนังบาง การฉีดต้องแม่น ถ้าทะลุเลยก็ไม่ได้ผล

“นี่คือหลักการ ในวันข้างหน้าถ้าข้อมูลวิชาการเพิ่มเติมว่าภูมิเท่ากัน ปลอดภัยไม่แตกต่างกัน เพียงแต่วันนี้ที่เราห่วงกังวล อาการข้างเคียงเกิดผิวหนังมากกว่าแบบเดิม ผู้หญิงอาจมีแผลเป็นบริเวณที่ฉีด หรือเกิดตุ่มหนองอะไรขึ้นมา ก็อาจเกิดดราม่าผลข้างเคียงมากกว่า จึงยังไม่ได้เอาไปใช้เป็นการทั่วไป ยังฉีดเข้ากล้าม

ถ้าวันหนึ่งจะเร่งฉีดให้ครอบคลุมมาก โดยเฉพาะเข็ม 3 ถ้าฉีดผิวหนังก็ใช้ 1 ใน 5 ก็จะประหยัดวัคซีน คนได้เข็ม 3 ครบมากขึ้นเร็วขึ้น เป็นทางเลือกนโยบายไปดำเนินการ ซึ่งตอนนี้ดำเนินการนำร่องแล้วที่ภูเก็ต” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ด้าน ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์และวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มอ. กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันมีในน้ำเลือดและเซลล์ เมื่อเจาะเลือด 1 หลอดเอามาปั่น ข้างบนเป็นน้ำเลือดเอาไปตรวจแอนติบอดีและการตอบสนองต่อเดลตา ซึ่งแอนติบอดีช่วยไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์

ส่วนด้านล่างหลอดจะเอาเซลล์ไปดูการตอบสนอง คือ ทีเซลล์ที่จะหลั่งสารตัวหนึ่งมาช่วยกำจัดตัวไวรัสเมื่อเข้าสู่เซลล์แล้ว โดยพบว่าคนที่ได้ซิโนแวค 2 เข็ม เมื่อเอาตัวโปรตีนหนามแหลมของไวรัสไปกระตุ้น ได้ตัวของภูมิประมาณ 30 เมื่อฉีดแอสตร้าเซนเนก้าบูสต์ ไม่ว่าเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดโดสน้อยลง 1 ใน 5 เข้าชั้นผิวหนัง ได้ภูมิ 50 กว่า จึงไม่แตกต่าง ภูมิเท่ากัน

ส่วนอาการทางผิวหนังปวดบวมแดงร้อนเกิดขึ้นได้เยอะ แต่หายได้เองใน 7 วัน ไม่มีอาสาสมัครคนไหนไปพบแพทย์ ทานยาก็หาย รอยแดงไม่มีคนไหนขึ้นตุ่มหนอง เนื้อตาย ส่วนใหญ่เหมือนรอยมดกัดผึ้งต่อยซึ่งหายเอง

ขณะที่ นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผอ.สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลข้างเคียงวัคซีนทำให้เกิดไข้นั้น กลุ่มฉีดเข้ากล้ามพบ 30% กลุ่มฉีดชั้นผิวหนังพบ 5% ถือว่าน้อยกว่ามาก ถ้าอนาคตอันใกล้ถ้าพิสูจน์การฉีดคนเป็นหมื่นคน เราไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงเฉพาะที่การฉีดเข้าผิวหนังน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในแง่ความปลอดภัย

เมื่อถามว่า การฉีดชั้นผิวหนังภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานเท่าแบบเดิมหรือไม่อย่างไร นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า งานวิจัยยังไม่ตอบ เพราะต้องอาศัยเวลา เหมือนวัคซีนที่รอผลระยะยาวจะยังตอบไม่ได้จนกว่าเวลาจะมาถึง แต่เราจะตามดู 1-2 เดือน ว่าฉีดผิวหนังภูมิหล่นลงเร็วกว่าหรือไม่ อยู่ในแผนการติดตามอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน