ศบค.เห็นชอบลดวันกักตัว 7 วัน คนมีเอกสารรับรองฉีดวัคซีนครบ ส่วนไม่มีมาทางอากาศลดเหลือ 10 วัน ทางบก 14 วันตามเดิม พ.ย.ขยายพื้นที่ท่องเที่ยว 10 จว.

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรมี 2 เรื่อง คือ 1.การปรับลดระยะเวลากักกัน หลังจากเห็นข้อผ่อนปรนได้

โดยแบ่งเป็น 1.กลุ่มที่มีเอกสารรับรองฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์อย่างน้อย 14 วัน เข้ามาทุกช่องทาง ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน รับการตรวจเชื้อ 2 ครั้ง วันที่ 0-1 และวันที่ 6-7
2.ไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน หากมาทางอากาศหรือน้ำ ซึ่งจะตรวจหาเชื้อมาก่อน ให้กักตัว 10 วัน เข้ามาแล้วตรวจหาเชื้อวันที่ 0-1 และวันที่ 8-9 ส่วนมาทางบก ที่ไม่ตรวจหาเชื้อมาก่อน ให้กักตัว 14 วันตามเดิม เพราะมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าทางอากาศ

3.การปรับมาตรการการทำกิจกรรมการอยู่ในสถานกักกัน AQ โดยสามารถออกกำลังกายกลางแจ้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยานในสถานที่ปิดควบคุมได้ สั่งซื้อสินค้า/อาหารจากภายนอก การประชุมสำหรับนักธุรกิจเข้ามาระยะสั้นได้ ส่วนประเภท SQ และ OQ ให้ออกกำลังกายกลางแจ้งและสั่งซื้อสินค้า/อาหารจากภายนอกได้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ส่วนหลักเกณฑ์การเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว มี 2 เรื่องย่อย คือ 1.หลักเกณฑ์พิจารณาการเปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว และ 2.แผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ซึ่งเดิมเราทำแผนที่ประเทศไทยมีแต่สีแดง เวลาสื่อออกไปภายนอกมีผลสำคัญ ทั้งที่บางจังหวัด บางอำเภอไม่ติด แต่เราประกาศออกไปเพื่อครอบคลุมแนวทางการบริหารจัดการเรื่องการระบาดของโรค แต่พอดูรายอำเภอ พบว่าบางอำเภอไม่มีการติดเลย

โดย 12-18 ก.ย. สีเขียวเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ภาพการควบคุมโรคกับสิ่งที่เป็นจริงไม่ตรงกันนัก การเปิดกิจการกิจกรรมทั้งหลายต้องทำตามความเป็นจริง แต่ต้องมีขั้นตอนและจังหวะเวลา สิ่งที่คณะกรรมการพิจารณาทั้ง สธ. มหาดไทย ท่องเที่ยว ประชุมมาหลายรอบ คือ

ระยะนำร่อง 1-31 ต.ค. พื้นที่สีฟ้า คือ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และ 7+7 สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เก่าพะงัน เกาะเต่า) พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก) ขอให้เดินหน้ากันเต็มที่ เป็นเมืองหลักที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมด

ระยะที่ 1 วันที่ 1-30 พ.ย. ยกระดับพื้นที่สีฟ้าอีก 10 จังหวัด คือ เมืองหลักที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 15% ของายได้จากากรท่องเที่ยวทั้งหมด ได้แก่ กทม. กระบี่ (ทั้งจังหวัด) พังงา (ทั้งจังหวัด) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน หนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี (พัทยา บางละมุง นาจอมเทียน บางเสร่) ระนอง (เกาะพยาม) เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริมแม่แตง ดอยเต่า) เลย (เชียงคาน) และบุรีรัมย์ (อ.เมือง)

ระยะที่ 2 วันที่ 1-31 ธ.ค. เพิ่มมาอีก 20 จังหวัด เมืองหลักที่มีรายได้ท่องเที่ยวไม่่น้อยกว่า 15% มีสินค้าศิลปะวัฒนธรรมท่องเที่ยว มีจังหวัดพรมแดนติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคาย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส

ระยะที่ 3 วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป จังหวัดที่นำรน่องด้านเศรษฐกิจมีพรมแดนติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน 13 จังหวัด คือ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล

พื้นที่สีฟ้าสามารถเปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ ได้ดีขึ้น มีมาตรการบริหารจัดการ โควิดฟรีเซตติ้งอะไรต่างๆ โดยสามารถทำได้แบบพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) คือ ไม่จำกัดการเดินทาง กิจกรรมได้ 500 คน บริโภคในร้านอาหาร เปิดตามปกติ ทั้งร้านอาหาร ศูนย์การค้า ร้านเสริมสวย นวด ทั้งหลาย เปิดได้ แต่เป็นความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเข้าไปควบคุมให้เต็มที่ คือการนำร่องตรงนี้ขึ้นมา

ขอความร่วมมือประชาชนแต่ละจังหวัดแต่ละช่วงเวลาช่วยกัน ถ้าทำได้ไม่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แผนนี้จะนำไปปฏิบัติและขยายผลต่อการกลับมาสู่นิวนอร์มัล และโรคที่เคยบอกว่าเป็นโรคระบาดจะเปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่น เราต้องอยู่กับเขาให้ได้ และวัคซีนที่จะเข้ามาปลายปีนี้ต้นปีหน้าเพิ่มขึ้น สร้างความเข็มแข็งร่างกายคนและเศรษฐกิจไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน