โควิดคร่าชีวิต หญิงท้อง อันดับ 1 ทั่วโลก ห่วงเกินครึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เสี่ยงติดเชื้อ 2 ใน 3 กังวลความปลอดภัย-ประสิทธิผล เร่งรณรงค์อีก 2 แสนกว่าคนฉีด

วันที่ 19 ต.ค.64 นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผอ.สำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย แถลงข่าวการติดเชื้อโควิด 19 ในหญิงตั้งครรภ์ ว่า ทั่วโลกหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 50-60% จากภาวะปกติ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์ในหลายประเทศ ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ประมาณ 1 ใน 4 หรือ 25%

ส่วนในประเทศไทยตั้งแต่ ต.ค. 2563 – ก.ย. 2564 หรือการระบาดระลอกที่ 2 – 3 มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 192 คน เสียชีวิตจากโควิดถึง 78 คน คิดเป็น 38% ถือว่าสูงมาก เป็นปีแรกที่การเสียชีวิตหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เกิดจากโควิด

สำหรับช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 16 ต.ค. หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 4,778 ราย ทารกติดเชื้อ 226 ราย มารดาเสียชีวิต 95 ราย ทารกเสียชีวิต 46 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อใน กทม. ปริมณฑล และ 3 จังหวัดชายแดนใต้

สำหรับนโยบายการฉีดวัคซีนหญิงตั้งครรภ์เริ่มเมื่อ ก.ค.หรือ 3 เดือนที่ผ่านมา และเริ่มรณรงค์หนักขึ้นในช่วงการระบาดที่สูงขึ้นใน ส.ค. เราพบว่าหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนเข็มแรก 7.5 หมื่นคน เข็มสอง 5.1 หมื่นคน และเข็มสาม 526 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตั้งครรภ์รับซิโนแวค 2 เข็ม ได้รับการกระตุ้นเข็ม 3 ช่วง ธ.ค.นี้ จะมีหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ประมาณ 3 แสนคน

ดังนั้น ขณะนี้ฉีดได้เพียง 25% โดยเขตสุขภาพที่ 6 ภาคตะวันออก ฉีดได้สูงประมาณ 40% ภาคกลาง เช่น ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉีดได้ประมาณ 30 กว่า% ภาคอีสานที่มีหญิงตั้งครรภ์มาก ยังฉีดได้น้อย 10-20% เท่านั้น จึงต้องรณรงค์ให้คนที่เหลือเข้ารับวัคซีน เพราะหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่ 95% ไม่มีประวัติการรับวัคซีน รวมถึงกลุ่มที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีน ยึงเป็นสาเหตุทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต

นพ.เอกชัย กล่าวว่า จากผลสำรวจอนามัยโพล หญิงตั้งครรภ์กับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ระหว่างวันที่ 15 – 29 ก.ย. จากหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศ 1,165 คน พบว่า 98% ฝากครรภ์แล้ว ส่วนใหญ่อยู่ร่วมกับสมาชิกในบ้านมากกว่า 2 คนขึ้นไป ครึ่งหนึ่งไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย ถามว่าจะฉีดหรือไม่ ประมาณ 60% บอกว่าตั้งใจจะฉีด ที่เหลือยังลังเล

สาเหตุที่ลังเล พบว่า 1 ใน 3 กังวลเรื่องความปลอดภัย ผลข้างเคียงของวัคซีน และ 1 ใน 3 ไม่มั่นใจประสิทธิภาพของวัคซีน ส่วนที่เหลือเป็นประเด็นอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับความกังวล เช่น เข้าไม่ถึง ไม่รู้จะไปฉีดที่ไหน ไม่มีเวลา เป็นต้น

“ส่วนใหญ่ยังกังวลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยวัคซีน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พยายามให้ความรอบรู้และข้อมูลว่าไม่ต้องกังวล เพราะตรวจสอบและศึกษาแล้วว่า วัคซีนที่นำเข้ามาฉีดนั้นมีความปลอดภัยทุกตัว” นพ.เอกชัยกล่าว

นพ.เอกชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่า สตรีมีครรภ์จำนวนมาก 50-60% ยังต้องไปทำงานนอกบ้าน เป็นข้อกังวลว่า ถ้ายังไม่ได้ฉีดวัคซีนและไปทำงานนอกบ้านด้วย จะป้องกันตนเองอย่างไร เพราะยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ขณะที่การป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา สิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ทำได้ดี คือ สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อออกที่สาธารณะ เว้นระยะห่างเมื่อเข้าที่ชุมชน ล้างมือ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ส่วนที่ยังทำได้น้อย คือการป้องกันตนเองในบ้าน ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม แยกของใช้ส่วนตัว จับหน้ากาก กินข้าวร่วมกัน

“เรารู้กันว่า สตรีมีครรภ์เกิน 70% ติดเชื้อจากในบ้าน และข้อมูลสำรวจก็ออกมาอยู่ร่วมสมาชิกในบ้านเยอะ แนะนำว่าถ้ายังไม่ฉีดควรป้องกันตนเองสูงสุด ถ้าเป็นไปได้ให้สวมหน้ากากในบ้านด้วย และไม่ควรรับประทานอาหารร่วมกัน ถอดหน้ากากพูดคุย อาจแลกเปลี่ยนเชื้อกันได้ และทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม” นพ.เอกชัยกล่าว

นพ.เอกชัย กล่าวว่า หญิงมีครรภ์ยังกังวลเรื่องวัคซีน บางส่วนรอฉีดวัคซีนที่ตัวเองต้องการ ทำให้รับวัคซีนล่าช้าไปเรื่อยๆ รวมถึงยังไม่มั่นใจสูตรไขว้ ทั้งที่ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สธ. องค์การอนามัยโลกหรือระดับสากลบอกว่าสูตรไขว้ฉีดได้ในสตรีมีครรภ์มีความปลอดภัย

ส่วนผลข้างเคียงในหญิงมีครรภ์ไม่ได้ต่างจากคนทั่วไปและหายเองได้ เช่น ปวดหัว ไข้เล็กน้อย อ่อนเพลีย ไม่ได้ร้ายแรงอะไร กินยาลดไข้ได้ และไม่ควรคิดว่าตนเองไม่มีความเสี่ยงหรือโอกาสติดเชื้อน้อย ถือเป็นความประมาท

“ขอรณรงค์ให้สตรีมีครรภ์ที่เหลือ 2 แสนกว่ารายให้รับวัคซีนในสถานการณ์ที่ยังประมาทไม่ได้ หญิงให้นมบุตรรับวัคซีนก็ให้นมบุตรได้ ไม่มีผลต่อน้ำนม หญิงตั้งครรภ์และให้นบุตรที่ฉีดวัคซีนลดการติดเชื้อ ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ ประโยชน์จากฉีดวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงหรือผลข้างเคียง ทุกประเทศแนะนำเหมือนกันหมด ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง แนะนำฉีดได้ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ต้นไป” นพ.เอกชัยกล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน