สธ. ลงนามจัดซื้อ ยาโมลนูพิราเวียร์ 5 หมื่นคอร์สการรักษา หวังผู้ป่วยโควิดเข้าถึงยาใหม่ คาด อย.สหรัฐฯ อนุมัติทะเบียนสัปดาห์หน้า เร่งรัดนำเข้าได้ใน ม.ค.65

วันที่ 25 พ.ย.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ร่วมพิธีลงนามสัญญาการจัดซื้อ ยาโมลนูพิราเวียร์ สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย ระหว่างรัฐบาลไทย โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ ดร.แมรี เสรฐภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด

นายอนุทิน กล่าวว่า โรคโควิด 19 เป็นโรคอุบัติใหม่ มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อประชาชน ระบบเศรษฐกิจและสาธารณสุขทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีมาตรการควบคุมโรคโควิด 19 คือ 1.ป้องกันการติดเชื้อ โดยสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง 2.เสริมสร้างภูมิต้านทานด้วยการให้วัคซีนครอบคลุมประชากรมากที่สุด

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า และ 3.รักษาผู้ติดเชื้อด้วยยาอย่างมีประสิทธิภาพตามความรุนแรงของโรค โดยใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจร ยาฟาร์วิพิราเวียร์ ถ้ามีความรุนแรงก็ปรับยาขึ้นเรื่อย ๆ ยาโมลนูพิราเวียร์ก็เป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ดังนั้น ยารักษาโควิด 19 จึงมีความสำคัญและจำเป็น นโยบายการจัดหาจึงเน้นการเข้าถึงยาที่มีประสิทธิผลได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการหรือผลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพเพียงพอในการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อพิจารณาเลือกและจัดหายาที่เหมาะสมมาใช้

“นายกฯ ห่วงการเจ็บป่วย จึงแนะนำให้ข้อสั่งการ สธ. อยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ เข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์ เพื่อประชาชนจะได้มียาที่ดีที่สุดชนิดหนึ่งในการดูแลรักษาอาการป่วย ซึ่งยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิผลในผู้ป่วยอาการปานกลางหรือเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงในกลุ่ม 607 คาดว่าจะมีประสิทธิผลลดผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิต การร่วมมือวันนี้จะนำไปสู่ความมั่นคงทางสุขภาพ มีทั้งวัคซีนป้องกันโรคและยารักษาโรค หากใช้ทั้ง 2 มิตินี้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยของที่มีคุณภาพ ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศไทยจะมั่นคงในทุกด้าน โดยเฉพาะสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม” นายอนุทิน กล่าว

 

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิดยังมีความรุนแรงทั่วโลก ติดเชื้อใหม่ 6 แสนราย ส่วนไทยลดลงติดเชื้อวันละ 5 พันกว่าราย เรารณรงค์ฉีดวัคซีนมากที่สุด แต่บางคนยังมีการเจ็บป่วยและเสียชีวิต การรักษาจึงสำคัญ ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาเรมเดซิเวียร์ และโมโลโคลนอล แอนติบอดี ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ที่จะจัดหาเข้ามานั้น มีผลการศึกษาระยะที่ 3 จากอาสาสมัครที่เข้าร่วมในโครงการจำนวน 762 รายที่สหรัฐอเมริกา

สธ. ลงนามจัดซื้อ ยาโมลนูพิราเวียร์ 5 หมื่นคอร์สการรักษา หวังผู้ป่วยโควิดเข้าถึงยาใหม่

สธ. ลงนามจัดซื้อ ยาโมลนูพิราเวียร์ 5 หมื่นคอร์สการรักษา หวังผู้ป่วยโควิดเข้าถึงยาใหม่

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า โดยติดตามหลังให้ยาเป็นเวลา 29 วัน ผลการศึกษาทางคลินิกในเบื้องต้น พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์เข้ารักษาที่โรงพยาบาล 28 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเข้ารักษาที่โรงพยาบาล 53 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ถือว่าช่วยลดความเสี่ยงเสียชีวิตหรือรักษาตัวใน รพ. ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคน้อยถึงปานกลางได้ร้อยละ 50

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด 19 ในประเทศไทยเข้าถึงยาชนิดใหม่ เป็นอีกทางเลือกให้มีอาวุธหลายแบบ เพราะบางคนแพ้ยา สธ. โดยกรมการแพทย์พิจารณาแล้วว่า จำเป็นต้องจัดหาและจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ โดยกรมการแพทย์รับผิดชอบสัญญาการจัดหาและจัดซื้อจำนวน 5 หมื่นคอร์สการรักษา เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตหรือการรักษาตัวในโรงพยาบาลต่อไป

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์เป็นไปตามเงื่อนไขการซื้อยาภายใต้เงื่อนไขการรักษาโรคโควิด 19 ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐกำหนด ทั้งนี้ ปัจจุบันแนวทางการให้ยารักษาโควิดของไทย หากไม่มีอาการให้ยาฟ้าทะลายโจร อาการไม่มากถึงปานกลางให้ยาฟาวิพิราเวียร์ อาจจะมียาตัวอื่นเข้ามาเสริมหากมีอาการรุนแรงแล้วแต่ประเภทผู้ป่วย แนวทางการรักษายังคงเดิม

นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ที่มีข่าวรายงานการศึกษาในต่างประเทศว่า ฟาวิพิราเวียร์อาจไม่ประสบความสำเร็จ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญรับทราบแล้ว ซึ่งกรมการแพทย์ได้พูดคุยกับอาจารย์แพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อฯ สมาคมอุรเวชช์ฯ เป็นระยะ ต้องยอมรับในระบบของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน บางประเทศฉีดวัคซีนมาก บางประเทศฉีดน้อย และพันธุกรรมแต่ละชาติก็ต่างกัน เท่าที่รับรายงานจากหมอหน้างานที่รักษาก็ยังยืนยัน หากให้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้เร็วจะมีประโยชน์ ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิด

ขณะนี้อยู่ในขั้นศึกษาวิจัยระยะ 3 ผลเบื้องต้นลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้มอบผู้เชี่ยวชาญศึกษาเปรียบเทียบการใช้ยาของประเทศไทย ทั้งยาที่มีใช้อยู่และยาที่กำลังเข้ามา รวมถึงเกณฑ์การให้ยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิดสำหรับผู้ป่วย คาดว่าเกณฑ์การให้ยาจะมีความชัดเจนช่วงกลาง ธ.ค.นี้

“ยาโมลนูพิราเวียร์ และ ฟาวิพิราเวียร์ ออกฤทธิ์ที่เดียวกัน ยับยั้งการจำลองตัวไวรัส ส่วนแพกซ์โลวิดออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างโปรตีน ต้องกินคู่กับยาริโทนาเวียร์ ประสิทธิภาพอยู่ที่อาการผู้ป่วย ทั้งคู่ได้ผลสำหรับผู้ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง และเน้นในกลุ่ม 607 เพราะหญิงตั้งครรภ์ยังไม่มีการศึกษา อย่างไรก็ตาม ยาโมลนูพิราเวียร์ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะผ่านการอนุมัติจาก อย.สหรัฐอเมริกา และเข้า อย.ไทย กว่าจะเข้ามาน่าจะเป็นไตรมาสแรกปี 2565 ได้เร่งรัดบริษัทนำเข้าให้ได้ใน ม.ค. 2565 ส่วนแพกซ์โลวิดได้มีการเจรจาด้วยวาจาแล้ว อยู่ระหว่างทำสัญญา เพื่อส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา ก่อนเสนอ ครม.ขออนุมัติวงเงินและเข้ากรมบัญชีกลาง ทั้งหมดได้เจรจาขอให้ได้ยาภายในไตรมาสแรก โดยทยอยเข้ามาให้เร็วที่สุด” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ 5 หมื่นคอร์สการรักษา ขนาดบรรจุภัณฑ์ 1 หน่วย ประกอบด้วยยาขนาด 200 มิลลิกรัมต่อแคปซูล จำนวน 40 แคปซูล รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล (800 มิลลิกรัม) วันละ 2 ครั้ง ห่างกันทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 วัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน