‘หมอประสิทธิ์’ ห่วงโควิด แอฟริกา ชี้ถ้าหลุดมาได้ยุ่งเลย เตือนถ้าไม่ระวัง แล้วระบาดหนัก เป็นเรื่องใหญ่ หลังพบจุดกลายพันธุ์มากถึง 32 จุด

วันที่ 26 พ.ย.64 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงสถานการณ์การพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ B.1.1.529 ซึ่งประเทศอังกฤษประกาศจำกัดผู้เดินทางจากประเทศต้นทางที่พบไวรัสดังกล่าว ว่า ไวรัสโควิดตัว B.1.1.529 เป็นที่ต้องเฝ้าติดตามจริงๆ เนื่องจากจุดการกลายพันธุ์มากถึง 32 จุด

ที่สำคัญคือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสไปร์กโปรตีน (Spike protein) จะมีผล 2 แบบใหญ่ คือ 1.ทำให้ความรุนแรง แพร่กระจายมากขึ้น เพราะเกิดในตำแหน่งก่อเรื่อง และ 2.จุดที่สร้างสไปร์กโปรตีน เป็นจุดออกแบบวัคซีนเพื่อใช้เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ดังนั้น หากจุดแถวนี้เปลี่ยนจนหน้าตาเปลี่ยนไป

“เช่น เราจำหน้าตาโจรได้ แต่มีการเปลี่ยนแปลงที่ส่วนอื่น ที่แขน ขา ก็ไม่มีผล เพราะหน้าตาเหมือนเดิม ภูมิต้านทานจำได้ แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนที่หน้าตา หากมากพอ ภูมิคุ้มกันเราอาจจำหน้าโจรไม่ได้ ก็แปลว่า ไวรัสตัวนี้อาจหลุดจากระบบของวัคซีน ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี แต่ในความเป็นจริงยังไม่รู้ว่า 1 กับ 2 จะเกิดหรือไม่ แต่เราต้องระวังมาก” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำลังวิเคราะห์รายละเอียดผู้เดินทางเข้าประเทศที่ตรวจพบเชื้อ เพื่อหาสายพันธุ์ B.1.1.529 เพราะฮ่องกงพบแล้ว ส่วนประเทศต่างๆ ก็ยังตรวจน้อย เพราะค่าใช้จ่ายจะสูง แต่เนื่องจากเราเปิดประเทศ เลยต้องระวัง ซึ่งเป็นที่น่ากังวล

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มีรายงานพบสายพันธุ์ B.1.1.529 รวม 10 ราย เกิดจากการตรวจ แต่ที่ไม่ตรวจอาจมีอีกร้อยรายก็เป็นได้ ซึ่งเราไม่รู้ เพราะการตรวจด้วย RT-PCR ไม่สามารถบอกถึงสายพันธุ์ได้

“ตัวนี้เป็นตัวที่ต้องเฝ้าระวัง เราก็ต้องระวัง อย่างสมัยก่อนเราก็ไม่ตรวจเดลต้า แต่เมื่อมากขึ้นเราก็ต้องตรวจ แล้วก็พบว่าเมืองไทยก็มี ดังนั้นก็เหมือนกัน แต่ก็ไม่ง่าย เพราะตอนนี้เราไม่รู้ จริงๆ อาจไม่ใช่แค่นี้ที่เราเจอ อาจมีที่อื่นแล้วเยอะก็ได้ จึงรับรองได้ว่า

แต่ละประเทศจะกันไม่ให้ตัวนี้เข้าไป เพราะถ้ามันหลุดเข้าไป ที่ทำมาทั้งหมดก็ยุ่งเลย อาจไม่ถึงกับศูนย์ เพราะเรายังไม่รู้ว่ามันหนักหนาแค่ไหน เพียงแต่รู้ว่าถ้าไม่ระวัง แล้วมันหนัก คราวนี้เรื่องใหญ่” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงความจำเป็นในการจำกัดผู้เดินทางจากต้นทางที่พบสายกลายพันธุ์ คือ แอฟริกาใต้ บอตสวานา และฮ่องกง ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ยกตัวอย่างเดลต้าพลัสที่พบกว่า 50 ประเทศทั่วโลก แต่สำหรับบางประเทศที่ไม่ได้ตรวจสายพันธุ์ก็อาจไม่พบ จึงเชื่อว่าหลายประเทศจะเริ่มตรวจแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่พบการติดเชื้อจำนวนเยอะๆ เพื่อหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ดังกล่าวหรือไม่

อย่างไรก็ตาม คาดว่า 2-3 สัปดาห์นี้ เราจะเริ่มมีข้อมูลออกมาว่าประเทศใดเจอสายกลายพันธุ์นี้แล้วบ้าง ดังนั้น จะไม่แปลกใจถ้าอยู่ๆ เจออีก 30-40 ประเทศ ไม่อยากให้ตื่นตระหนก แต่ต้องเฝ้าระวัง และย้ำเรื่องการฉีดวัคซีนในประเทศไทย แต่ขณะเดียวกัน หน้ากากอนามัยก็ต้องสวมตลอดเวลา ยังต้องเว้นระยะห่าง ล้างมือเช่นเดิม เพราะหากเกิดมีสายพันธุ์นี้เข้ามา แม้วัคซีนอาจได้ผลไม่ดีเท่าเดิม แต่การป้องกัน 3 อย่างนี้ก็ยังได้ผลอยู่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน