สธ.แจงอย่ากังวล 252 คนจากแอฟริกา เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ ย้ำ 8 ประเทศห้ามเข้าไทยตั้งแต่ 1 ธ.ค. ส่วนประเทศอื่นในแอฟริกาให้กักตัว 14 วัน สกัดหลุดรอด

วันที่ 2 ธ.ค.64 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โควิด 19 ประจำวันว่า ขณะนี้ประเทศที่พบสายพันธุ์โอไมครอน ได้แก่ แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย บอตสวานา โมซัมบิก ซิมบับเว นามิเบีย มาลาวี เอสวาตีนี เลโซโท

ส่วนทวีปอื่นๆ ที่รายงานพบอย่างบราซิล แคนาดา ญี่ปุ่น อิสราเอล ออสเตรีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง อังกฤษ ตุรกี เยอรมนี สเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เช็ก เบลเยียม สวีเดน โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก และออสเตรเลีย เป็นเคสนำเข้าโดยผู้เดินทางจากแอฟริกา

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สำหรับมาตรการรับมือได้กำหนดไม่ให้ผู้มาจาก 8 ประเทศเสี่ยงโอไมครอน ลงทะเบียนเข้าประเทศผ่าน Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. ส่วนคนที่ขอมาแล้วก็มาได้ถึงวันที่ 30 พ.ย. และเข้าสู่ระบบการกักตัว 14 วัน และตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ก็ห้ามไม่ให้เดินทางเข้ามาแล้ว จึงไม่มีหลุดออกไป

ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา กำหนดให้กักตัว 14 วัน ถ้าเดินทางหลังวันที่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป และตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง ขอให้มั่นใจมาตรการที่ดำเนินการ ส่วนที่มาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. ถือว่าผ่านมาเกิน 14 วัน เมื่อไม่มีอาการป่วยก็ค่อนข้างมั่นใจได้ เนื่องจากทั่วไประยะฟักตัวของเชื้ออยู่ที่ 2-14 วัน แต่ระยะเฉลี่ยที่พบสูงสุดคือ 5-7 วัน การติดเชื้อหลัง 7 วันพบค่อนข้างน้อย หลัง 14 วันยิ่งพบน้อยมาก

สำหรับกรณี ศบค.ประกาศติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศไทย จาก 8 ประเทศเสี่ยงสูงที่พบสายพันธุ์โอไมครอน จำนวน 252 คน จะส่งข้อความไปที่แอพพลิเคชัน “หมอชนะ” และอีเมล์ที่ผู้เดินทางใช้ลงทะเบียน Thailand Pass เพื่อรับคิวอาร์โค้ด ใช้ในการเดินทางเข้ามา เพื่อแจ้งให้ไปรพ.รัฐ รับการตรวจ RT-PCR ฟรี คุมไว้สังเกตอาการเพื่อลดเสี่ยงแพร่กระจายู่คนอื่น ซึ่งจริงๆ ไม่อยากให้กังวลมาก เราทำเข้มข้นเต็มที่ และมีการติดตาม

ย้ำว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ เพียงเดินทางมาจากประเทศที่พบโอไมครอน และถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ เนื่องจากก่อนเดินทางเข้ามามีการฉีดวัคซีนครบโดส มีผลตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเป็นลบ มาถึงไทยวันแรกก็ตรวจไม่พบเชื้อ ถ้าพบเชื้อก็ต้องเข้าโรงพยาบาล และเมื่ออยู่ในแซนด์บ็อกซ์ครบ 7 วัน ก็ต้องตรวจอีกครั้งด้วย ATK ผลเป็นลบจึงเดินทางต่อได้ ซึ่งเลยช่วงที่มีโอกาสพบเชื้อมากที่สุดไปแล้ว

“มีการตรวจอย่างน้อย 3 ครั้ง ตั้งแต่ก่อนมา เมื่อมาถึงและก่อนออกจากแซนด์บ็อกซ์ อย่างไรก็ตามเพื่อเน้นย้ำความมั่นใจก็จะขอตรวจซ้ำอีกครั้งในช่วงวันที่ 14 นับตั้งแต่วันเดินทางถึงประเทศไทย ส่วนคนไทยก็ขอให้เข้ารับการวัคซีน เข้มมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ยกการ์ดสูงไว้ก่อน ผู้ให้บริการที่เจอนักท่องเที่ยวมีมาตรการ COVID Free Setting และมาตรการบุคลากร ฉีดวัคซีนครบถ้วน เชื่อว่าการควบคุมความเสี่ยงต่างๆ อยู่ในแนวทางที่เราจัดการได้” นพ.เฉวตสรรกล่าว

นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า วันนี้มีการประชุมคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในกรมควบคุมโรค เพื่อเร่งรัดการรายงาน เนื่องจากหลายคนอยากให้อัพเดตว่าติดตามติดต่อกลุ่มนี้ได้เท่าไรแล้ว แต่ยังต้องยืนยันข้อมูลหลายจุดเพิ่มเติม จึงยังไม่มีตัวเลขรายงานตอนนี้ ซึ่งการที่ติดตามได้ยาก ส่วนหนึ่งเพราะเราติดตามเพียงฝ่ายเดียว และอยู่ที่เขาจะตอบสนองอย่างไร

อย่างการส่งข้อความไปแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่นหมอชนะ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเขาอาจบล็อกหรือถอดแอพพิลเคชั่นออกหรือไม่ เพราะยังไม่ติดต่อกลับมา หรืออย่างอีเมล ถ้ามีตอบกลับมาจะเห็นว่าตอบ แต่หากรับอีเมลแล้วไปรายงานตัวที่โรงพยาบาลแล้ว โดยไม่แจ้งกลับ คนส่งอีเมลก็จะไม่ทราบว่าคนนี้เข้าระบบแล้ว ยกเว้นจะส่งผลตรวจเข้ามาในหมอชนะ

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจากที่สำนักงานควบคุมป้องกันโรคที่ 6 พื้นที่ภาคตะวันออก รายงานว่ารายชื่อที่ให้ติดตาม 10 รายชื่อที่ส่งมา สามารถติดตามครบทั้งหมด เพราะเข้ามาทำงานในโรงงานนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อรู้สถานที่ตั้ง ก็ได้รับความร่วมมือในการติดตามอาการจนครบ 14 วัน

“ส่วนพื้นที่ต่างๆ ยังต้องตรวจสอบความซ้ำซ้อนกัน และต้องให้แน่ใจเรื่องติดต่อติดตาม เพราะบางทีเป็นข้อมูล แต่ปลายทางไม่แน่นอนว่าไปเที่ยวที่ไหน ก็ต้องมาเช็กอีกครั้ง ดังนั้น ถ้าโรงแรมต่างๆ ที่ให้ที่พักนักท่องเที่ยว หากพบว่ามาจากประเทศต้นทางกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ก็อาจสอบถามนักท่องเที่ยวว่าทราบเรื่องให้รายงานตัวและตรวจหาเชื้อหรือไม่ หรืออาจแนะนำนักท่องเที่ยวให้ไปตรวจ อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้ามาประเทศไทยเกิน 14 วันแล้ว แต่ถ้ามาแสดงตัวก็ตรวจให้ฟรีเช่นกัน” นพ.เฉวตสรรกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน