กรมควบคุมโรค เผยไทยพ้น “เดลต้า” แล้ว อยู่ในช่วงขาลง แต่ต้องเฝ้าระวังโอมิครอน เชื่อสถานการณ์ไม่รุนแรงไปกว่านี้ ย้ำขอให้หลีกเลี่ยงความเสี่ยง

วันที่ 28 ธ.ค.64 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อโควิดในไทยลดลงต่อเนื่อง เราพ้นช่วงของเดลต้ามาแล้ว ไทยอยู่ในช่วงขาลงมาเดือนกว่า ส่วนโอมิครอนยังอยู่ในหลักร้อยราย แม้จะระบาดง่าย แต่ความรุนแรงน้อย และคนไทยฉีดวัคซีนไปเยอะแล้ว หากจะเรียกว่าระบาดก็ต้องกลับมาพบผู้ติดเชื้อวันละเป็นหมื่น

ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะรุนแรงแย่ไปกว่านี้ และหลังปีใหม่ช่วงปลาย ม.ค.2565 คาดว่าวัคซีนรุ่นใหม่ ยาใหม่ แพกซ์โลวิดก็น่าจะเข้ามา สถานการณ์ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนช่วงนี้เตือนว่าอะไรที่เป็นความเสี่ยงให้หลีกเลี่ยง หากเลี่ยงไม่ได้ให้ระวังสูงสุด

โดยหลังปีใหม่จะประเมินเป็นระยะว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มมากแค่ไหน อาการหนักจนต้องเข้า รพ.หรือไม่ ถ้าอาการไม่หนักไม่เสียชีวิตเพิ่ม จะคงประกาศแจ้งเตือนภัยโควิดระดับ 3 ต่อไป แต่เมื่อมีสัญญาณระบาดมากขึ้น ติดเชื้อมากขึ้น จะประเมินอีกที

สำหรับการแจ้งเตือนระดับ 3 ที่ขอให้ทำงานที่บ้าน (Work From Home) ที่ผ่านมาเราไม่ได้บังคับ ศบค.สั่งเฉพาะราชการที่ไม่กระทบต่อบริการประชาชน แต่เอกชนหลายแห่งร่วมมือดีมาก พิสูจน์แล้วว่าลดค่าใช้จ่าย ทำงานได้เยอะขึ้น จึงเดินหน้าต่อแม้ไม่มีโควิด

คงต้องขอความร่วมมือทำงานที่บ้านต่อ แต่หากทำไม่ได้ ก็ให้ตรวจ ATK พนักงานตามความเสี่ยง ทำตามมาตรการ Covid Free setting โดยเฉพาะหลังปีใหม่ให้ตรวจ ATK ก่อนกลับเข้าทำงาน

“เราต้องสมดุลการใช้ชีวิตและระวังโควิด หากระวังมากเกินไป ชีวิตก็ไม่ปกติ เศรษฐกิจก็ไม่เคลื่อน ซึ่งความสมดุลยากที่สุด จึงต้องดูให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม สธ.เตรียมเตียงและยาเพียงพอ และช่วงหลังเรารับวัคซีนมากแล้ว ป่วยก็อาการไม่รุนแรง ผู้เสียชีวิตตอนนี้ส่วนใหญ่รับวัคซีนไม่ครบ

ขอให้ทุกคนเที่ยวปีใหม่ด้วยความปลอดภัย สวมหน้ากาก รับวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม ใครที่ลังเล ขอให้มั่นใจว่าปลอดภัย เราฉีดแล้วกว่า 100 ล้านโดส ผู้เสียชีวิตจากวัคซีนน้อยมาก ไม่เกิน 5 คน ขอให้ลูกหลานพามาฉีด อย่ากลัววัคซีน” นพ.โอภาส กล่าว

ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้นในผู้ฉีดสูตรไขว้ เช่น ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า หรือแอสตร้าฯ ตามด้วยไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ตามนโยบายหากรับครบ 2 เข็มเป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป ก็รับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ โดยนับเดือนที่ฉีดครบเป็นเข็มสุดท้ายออกไป 3 เดือน ไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตาม ดูจากเข็มสุดท้ายที่ฉีด

โดยการฉีดตามสูตรเราจะดูเป็นเข็มคู่กัน 2 เข็ม ไล่จากเชื้อตาย ไวรัลเวกเตอร์ และ mRNA ทั้งนี้ ช่วง ธ.ค.เป็นการฉีดเข็มกระตุ้นในผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ช่วง ส.ค.

ขณะที่ผู้ที่ฉีดครบช่วง ต.ค. ก็จะกระตุ้นใน ม.ค.2565 ซึ่งหลายจังหวัดส่งข้อความแจ้งเตือนให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว และ รพ.จะคีย์ข้อมูลเข้าระบบหมอพร้อมเพื่อแจ้งประชาชนมารับวัคซีนด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน