สธ.ยันมีเตียงพอ เผย โอมิครอน กลุ่มสีแดงลดลง สีเขียวเข้าฮอสพิเทลมากขึ้น เน้นรักษาที่บ้าน รอผลหารือ คปภ.เบิกประกันกรณีรักษาที่บ้าน

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามอาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน พบว่าครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ ส่วนอีก 30% มีอาการไม่มาก จึงเน้นการดูแลรักษาที่บ้าน (HI First) หากทำไม่ได้ก็จะมาดูแลในชุมชน (CI) หากมีอาการเปลี่ยนแปลงจะประเมินอาการเพื่อส่งต่อไปยังฮอสพิเทล รพ.สนาม หรือ รพ.หลัก

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนช่วง 4-5 วันที่ผ่านมาคนไข้เพิ่มมากน้อยแค่ไหน จากข้อมูลเตียง รพ. และฮอสพิเทล เปรียบเทียบช่วงวันที่ 9 ม.ค. ที่โอมิครอนเข้ามามากขึ้น และวันที่ 13 ม.ค. พบว่าการใช้เตียงสีแดงลดลงทั่วประเทศ จาก 213 เตียง เหลือ 182 เตียง ส่วน กทม.ใช้เท่าเดิม 25 เตียง กลุ่มเตียงสีเหลืองใช้เพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ไม่ได้วัคซีนและเจ็บป่วย แพทย์ไม่วางใจจึงนำเข้าเตียงสีเหลือง ซึ่งบางคนไม่ได้ใช้ออกซิเจน แต่แพทย์อยากเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยทั่วประเทศใช้เตียงสีเหลืองจาก 1,681 เตียง เป็น 3,095 เตียง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกทม.จาก 513 เตียงเป็น 1,246 เตียง ขณะที่เตียงสีเขียวคือฮอสพิเทลเข้าใช้เตียงมากขึ้น โดยทั่วประเทศจาก 33,935 เตียง เป็น 43,506 เตียง หรือเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นเตียง ขณะที่ กทม.จาก 6,950 เตียง เป็น 10,471 เตียง หรือเพิ่มขึ้น 3 พันกว่าเตียง

“เราเตรียมการสถานพยาบาลโดยเน้น HI/CI First ถ้าทำตามนี้ก็จะลดการใช้เตียงใน รพ. อย่าง CI ใน กทม.เตรียมไว้ 5-6 พันเตียง ผู้ป่วยไม่ถึงพัน ทั้งนี้ ผู้ที่ตรวจ ATK ผลเป็นบวกติดต่อ 1330 โดยขอให้ รพ.ติดต่อกลับเร็วที่สุดใน 6 ชั่วโมง เพื่อประเมินอาการ ให้คำแนะนำการดูแล ติดตามอาการ ถ้าอาการแย่ลงส่งรพ.ทันที และขอความร่วมมือ รพ.ร่วมกันรับผู้ป่วยเด็ก ซึ่งสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีจัดเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาไว้” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า สบส.ขยายศักยภาพ รพ.เอกชนไปสู่โรงแรม ให้ผู้ติดเชื้อที่อาการรุนแรงขึ้นได้รับการดูแลใกล้หมอ พยาบาล และเครื่องมือ ซึ่งข้อมูลถึงวันที่ 13 ม.ค. มีการอนุมัติฮอสพิเทล 162 แห่ง รวม 49,137 เตียง เปิดดำเนินการ 145 แห่ง รวม 30,240 เตียง

โดยเตียงระดับ 1 สีเขียว จำนวน 28,645 เตียง ใช้เตียงแล้ว 14,979 เตียง ยังเหลือ 13,666 เตียง หรือว่างอีกเกือบ 50% เตียงสีเหลืองระดับ 2.1 มี 1,187 เตียง ใช้แล้ว 472 เตียง ว่างอีก 715 เตียง ระดับ 2.2 มี 352 เตียง ใช้แล้ว 55 เตียง เหลืออีก 297 เตียง และเตียงสีแดงระดับ 3 มีทั้งหมด 56 เตียง ใช้แล้ว 4 เตียง ว่างอีก 52 เตียง

นอกจากนี้ สบส.ได้ออกประกาศประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (ฉบับที่ 7) ลดอัตราค่าตรวจ RT-PCR จากฉบับแรก 3,125 บาท ฉบับที่ 5 ลดลงเหลือ 2,250 บาท

“ล่าสุดฉบับที่ 7 เหลือ 1,300-1,500 บาท และลดค่าห้องฮอสพิเทล 1,500 บาท เหลือ 1,000 บาท โดยมีการหารือฝั่ง รพ.เอกชน ซึ่งให้ความร่วมมืออย่างดีในการบริหารจัดการงบประมาณภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เราบริหารจัดการเตียงให้รองรับประชาชนสอดรับกับงบประมาณให้เข้าถึงเป็นธรรม และศักยภาพเตียงยังพอรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้น HI ก่อน” ทพ.อาคม กล่าว

เมื่อถามถึงการหารือกับ คปภ.กรณีประกันสุขภาพผู้ป่วยคนไทยหากเข้า HI ประกันจ่ายหรือไม่ ทพ.อาคม กล่าวว่า อธิบดี สบส.หารือปัญหานี้กับรองเลขาธิการ คปภ.แล้ว ซึ่งเลขาธิการ คปภ.รับเรื่อง และจะหารือกับบริษัทประกันภัยเรื่องกรมธรรม์ หากมีความคืบหน้าจะแจ้งต่อไป ขอให้อดใจรอ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน