สธ.คาดโควิดยังสูง 2-6 สัปดาห์ก่อนลดลง ดับไม่เกิน 50 ราย ย้ำเตียงยา-เพียงพอ แนะ 3 มาตรการป้องกันโอมิครอนช่วงนี้
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โควิดและการรักษา ว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกพบติดเชื้อเพิ่มขึ้นแถบเอเชีย ขณะนี้ยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาสมดุลเศรษฐกิจและการควบคุมโรค
ส่วนประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค ทำให้พบผู้ปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยตามปริมาณ โดยวันนี้พบปอดอักเสบ 980 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 280 ราย และเสียชีวิต 42 ราย แต่สัดส่วนถือว่ายังลดลง
ซึ่งอัตราเสียชีวิตของการระบาดช่วงโอมิครอนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 อยู่ที่ 0.18% สำหรับกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตคือ ผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน ความดัน เบาหวาน ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและเข็มบูสเตอร์
ดังนั้น ทุกคนยังต้องเข้มมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา โดย สธ.จะเน้นการตรวจจับลักษณะคลัสเตอร์ในกลุ่มเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรง และสถานที่เสี่ยงต่างๆ ต่อการแพร่ระบาด เช่น ร้านอาหารกึ่งผับบาร์ กิจกรรมการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคมีการคาดการณ์สถานการณ์ใหม่ของเดือนถัดๆ ไป โดยในส่วนของผู้ติดเชื้อรายใหม่ คิดว่าช่วง มี.ค.จะเป็นระดับระนาบและค่อยๆ ลดลง ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบอาจขึ้นบ้างเล็กน้อย ระดับ 1 พันกว่าราย ซึ่งสามารถดูแลได้ เนื่องจากตอนเดลตาเคยขึ้นไปประมาณ 6-7 พันราย
สำหรับผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ คาดว่าจะมีประมาณ 400-500 ราย ซึ่งช่วงเดลตาเคยมีประมาณวันละ 1,300 ราย คิดว่าไม่น่าสูงไปกว่า 500 ราย จะดูแลอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการเสียชีวิต 500 ราย และผู้เสียชีวิตอาจจะขึ้นตามสัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อและค่อยๆ ลดลง คิดว่าประมาณวันละ 50 รายไม่มากไปกว่านี้และลดลง
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า สถานการณ์เตียงทั่วประเทศเราใช้เตียง 59% เพราะเราจัดเข้าระบบ HI CI จำนวนหนึ่ง ซึ่งมากกว่าอยู่ใน รพ. โดยเตียงระดับ 3 ใช้ 21.6% เตียงระดับ 2.2 ใช้ประมาณ 12% เตียงระดับ 2.1 ใช้ประมาณ 23% และเตียงระดับ 1 ใช้ประมาณ 67.1% ซึ่งระดับ 2 และ 3 เราใช้ประมาณ 20% เท่านั้น จึงยังมีเพียงพอรองรับ ส่วนเตียงเขียวเราพยายามปรับหรือเพิ่มบริการเพื่อให้คนอยู่บ้าน เนื่องจากเชื้อมีความรุนแรงลดลง ตามแนวทางการทำให้เป้นโรคประจำถิ่น
สำหรับ 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุดก็คล้ายกัน ใช้เตียงประมาณ 10-40% ยกเว้นภูเก็ตที่เป็นแซนด์บ็อกซ์ มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามามาก การครองเตียงจึงสูงในส่วนของเตียงสีเขียว จึให้เขตสุขภาพเข้าช่วยดูแล แต่เตียงระดับ 2-3 ยังมีมากพอรองรับ
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า เรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีการเสาะหาและผลิตยามาสนับสนุน ซึ่ง อภ.สามารถเร่งจัดหาและผลิตได้ เพื่อให้ สธ.ใช้ทันท่วงที ข่าวที่ขาดยาจึงไม่เป็นความจริง เพราะมีการเตรียมยาอยู่ในแผนงานและพื้นที่จำนวนมาก โดยเราสำรองยาในพื้นที่ 12 เขตสุขภาพ 13,343,882 เม็ด ใน กทม. 3,495,636 เม็ด และ อภ. 65,200 หมื่นเม็ด รวมพร้อมใช้ 16.9 ล้านเม็ด และมีแผนการจัดหาและผลิตยาเพิ่มอีก
“เราสามารถผลิตได้ 63.8 ล้านเม็ดภายใน 2 เดือนนี้ คือ มี.ค. และ เม.ย. และจะจัดหาเข้ามาอีก โดยซื้อยาเม็ดสำเร็จเข้ามาอีก รวม 87.6 ล้านเม็ด คิดว่าพอเพียงดูแลผู้ป่วยทั้งหมด ปัจจุบันมีการกระจายยาเข้าสู่ภูมิภาคอีก วันที่ 28 ก.พ. 5 ล้านเม็ด และวันที่ 1 มี.ค.อีก 15 ล้านเม็ด ทำให้ภาพรวมมียาอย่างเพียงพอ”
นอกจากนี้ สธ.ยังปรับและเพิ่มบริการการตรวจผู้ป่วยโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานพยาบาลหรือ HI CI หากสามารถดูแลตัวเองได้ จะมีการให้ยา นอกจากยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว รายที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย อาจให้รับยาฟ้าทะลายโจร หรือยาดูแลรักษาตามอาการ
ดังนั้น สธ.พยายามบริหารการรักษาให้สมดุล และเหมาะสมประชาชนมากที่สุด ซึ่งผู้ติดเชื้อโอมิครอนมากกว่า 90% ไม่มีอาการหรืออาการน้อย มีอาการปานกลางต่ำกว่า 5% ที่ต้องการใช้ยาจริงๆ ส่วนรายที่เริ่มมีอาการบ้าง ฝ่ายแพทย์จะพิจารณาให้ยาอย่างเหมาะสมต่อไป
“โควิดยังขาขึ้นระบาดวงกว้าง แต่ส่วนใหญ่ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อย สธ.จะเน้นดูแลผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตในทุกจังหวัด ขอสร้างความมั่นใจว่า เรามียาและเตียงอย่างพอเพียง”
“สธ.ได้ปรับรูปแบบบริการให้เหมาะสมสถานการณ์โรค เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่อไป โดยใช้ ATK และ HI/CI First สนับสนุนดูแลประชาชนเข้าถึงบริการ และเพื่อเข้าใจว่าโรคกำลังเปลี่ยนไปเป็นโรคประจำถิ่น ที่มีลักษณะรุนแรงน้อย และขอความร่วมมือกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง และยังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบ 3 เข็ม ให้รีบมารับวัคซีนสถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ รวมถึงกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปีด้วย” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น กระจายเป็นวงกว้าง เกือบทั้งหมดคือสายพันธุ์โอมิครอน หากดูจากทวีปยุโรปและอเมริกา พบช่วงการระบาดมากในช่วง 1-2 เดือนจากนั้นจะเริ่มลดลง ฉะนั้น ไทยเราเข้าสู่การมีผู้ป่วยสูงขึ้นช่วง 2 สัปดาห์ คาดว่าจะการระบาดจะยังสูงอยู่ใน 2-6 สัปดาห์ ขึ้นกับมาตรการที่มี
ทั้งนี้ สายพันธุ์โอมิครอนมักติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน ผู้ตอดเชื้อจะมีอาการทางจมูกและคอมาก เที่ยวนี้จึงพบอาการเจ็บคอจำนวนมาก โดยผู้ป่วยใน รพ. 2 แสนกว่าราย พบ 0.45% ที่มีอาการปอดอักเสบ และ 0.13% ที่มีการใส่ท่อช่วยหายใจ
ส่วนเรื่องพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 นั้น สายพันธุ์ BA.2 แพร่กระจายเร็วกว่าเล็กน้อย แต่ความรุนแรงไม่ต่างกัน อัตราการเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรัง ระยะนี้เห็นชัดเจนคือผู้ป่วยติดเตียง ไตวายระยะสุดท้าย มะเร็งระยะสุดท้าย มีอัตราเสียชีวิตมากในแต่ละวัน และประมาณ 70-80% จะมีปอดอักเสบ ที่เหลือไม่มีอาการทางปอดอาจเสียชีวิตจากโรคของเขาเอง
สำหรับมาตรการป้องกันขณะนี้มี 3 อย่าง คือ 1.วัคซีน เราฉีดแล้ว 123 ล้านโดส เน้นปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ตอนนี้มีโอมิครอนทำให้วัคซีนทุกชนิดการป้องกันจึงลดลง และคนเสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น การฉีดเข็มกระตุ้นจึงสำคัญ รวมถึงการติดเชื้อในกลุ่มเด็กเพิ่มมากขึ้นกว่า 10% จึงต้องเร่งฉีดในเด็กด้วย 2.มาตรการส่วนบุคคล โดยเฉพาะมาตรการ VUCA
3.เมื่อเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง แนะนำว่าให้กักตัว 7+3 คือ กักตัวที่บ้าน 7 วันหลีกเลี่ยงพบคนให้มากที่สุด ตรวจ ATK วันที่ 5-6 หากเป็นลบ ออกจากบ้านได้ แต่หลีกเลี่ยงพบผู้อื่น ไปที่สาธารณะ การใช้ขนส่งสาธารณะอีก 3 วัน เพื่อป้องกันนำเชื้อไปติดผู้อื่น หากปฏิบัติทั้ง 3 อย่างจะช่วยควบคุมโรคจากโอมิครอน