สธ.ยันติดโควิด ลดการระบาด สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้จริง ย้ำฉีดวัคซีนลดเสียชีวิต ไร้หลักฐานเข้าข้างไวรัส เผยข้อมูลติดโอมิครอนดันภูมิสูงขึ้นมาก

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีนักวิชาการออกมาระบุถึงภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ของโควิด-19 อาจไม่มีผลหรือไม่มีอยู่จริง ว่า ข้อมูลโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงตลอด มีความไม่แน่นอนสูง ฉะนั้นการพิจารณาหรือตัดสินใจเรื่องใดในภาคปฏิบัติระดับประเทศต้องอาศัยความคิดเห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ความเห็นของคนใดคนหนึ่ง

“ส่วนใหญ่ข้อมูลที่จะออกไปจะเป็นความเห็นโดยที่มีข้อมูลมารองรับ จึงยืนยันได้ว่าข้อมูลที่ออกไปทางกระทรวง ศบค. คณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกับวัคซีนเป็นผู้ให้ความคิดเห็น รวมทั้งสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง”

“ย้ำว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์ คำว่าภูมิคุ้มกันหมู่ มีหลายประเทศที่เป็นตัวอย่าง พอติดเยอะๆ แล้วเกิดภูมิคุ้มกันมากๆ การระบาดก็ลดลง เป็นตัวยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ภูมิคุ้มกันหมู่ต้องตีความและแปลความกันใหม่ เนื่องจากหลายประเทศแย้งว่าฉีดวัคซีนไปเยอะทำไมยังติดเชื้ออยู่ ย้ำอีกทีว่าภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่ได้แปลว่ามีแล้วไม่ติดเชื้อ แต่มีแล้วเมื่อติดเชื้อก็ไม่ระบาดมากขึ้น”

“ขอย้ำว่าการฉีดวัคซีนมีความสำคัญ การที่ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตลดน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะฉีดครอบคลุมบุคลากร ประชาชนได้ค่อนข้างมาก ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าคนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการน้อยอยู่ที่บ้าน พอหายก็บอกว่าเป็นเพราะวัคซีนช่วยเขา ย้ำอีกทีโดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่มีความกังวลว่าไปฉีดวัคซีนแล้วโอกาสเสียชีวิตจะมากกว่า ย้ำวัคซีนป้องกันการเสียชีวิตได้ ตัวเลขที่ผ่านมาลดได้ 40-50 เท่า” นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามกรณีมีแพทย์ออกมาบอกว่า ฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 หรือ 4 ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ การฉีดวัคซีนมากเกินไป ภูมิคุ้มกันที่ได้อาจไม่ดีต่อร่างกาย อาจกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้าข้างไวรัส คือ อาจจะมีอาการหนักได้เมื่อติดเชื้อ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า คนที่ให้ข้อมูลว่า วัคซีนฉีดเยอะๆ จะเข้าข้างไวรัส ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ใดๆ ที่ระบุว่าจะเป็นเช่นนั้น จึงจำเป็นว่าต้องฉีดวัคซีนเพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงมากพอ อย่างน้อยลดความรุนแรงของโรค

ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับข้อมูลที่มีการส่งต่อในโลกออน์ไลน์ประเด็นภูมิคุ้มกันเข้าข้างไวรัส ต้องอธิบายว่า โดยปกติก่อนที่ผู้ผลิตวัคซีนจะมาขอขึ้นทะเบียนกับ อย. จะต้องมีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่า อาสาสมัครที่รับวัคซีนจะต้องไม่มีภาวะส่งเสริมให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในร่างกาย จนเกิดอาการรุนแรงเมื่อภูมิคุ้มกันลดลง

“ทางการแพทย์เรียกว่า Vaccine-associated enhanced disease (VAED) นักวิชาการเรียกว่า ภาวะเวียด ซึ่งผู้ผลิตจะต้องถูกหน่วยงานที่ควบคุมกำกับตรวจสอบถี่ถ้วน จากการตรวจสอบข้อมูลทั้งไทยและต่างประเทศ ยังไม่พบภาวะเวียด ที่ส่งเสริมให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในร่างกายจนเกิดอาการรุนแรงเมื่อภูมิคุ้มกันลดลง ภายหลังการรับวัคซีนโควิด 1 2 และ 3 เข็ม ฉะนั้นจึงขออธิบายว่าภาวะภูมิคุ้มกันเข้าข้างไวรัส ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอ” นพ.บัลลังก์ กล่าว

ขณะที่ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าวว่า การรายงานเสียชีวิตและป่วยรุนแรงแต่ละวัน ส่วนใหญ่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือฉีดเข็มเดียว หรือฉีดวัคซีนครบแต่ห่างเกิน 3 เดือน จึงต้องไปบูสต์ ซึ่งโอมิครอนต้องฉีด 3 เข็มขึ้นไป ผู้ที่ครบกำหนดฉีดเข็ม 2 ครบ 3 เดือน หรือคนที่ฉีดปี 2564 มาฉีดเข็ม 3 ได้เลย หรือใครฉีด 3 เข็มมาแล้ว ช่วง พ.ย. – ธ.ค. ก็ไปฉีดเข็มสี่ในเดือนนี้

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เรามีโปรแกรมการฉีดสูงสุดคือ 4 เข็ม ส่วนถ้าฉีดมากขึ้นจะมีประเด็นอะไรเกี่ยวกับสุขภาพหรือไม่นั้น การฉีดวัคซีนอาจจะมีการแพ้หรืออาการข้างเคียงจากการฉีดแล้วแต่ชนิดของวัคซีน ซึ่งคล้ายกันในทุกเข็ม ส่วนติดเชื้อแล้วจะฉีดอีกเมื่อไร ล่าสุดโอมิครอนติดแล้วทำให้ภูมิสูงขึ้นเยอะ จะเว้นระยะ 3 เดือนเช่นเดียวกัน

“สำหรับเด็กเล็กยังไม่มีโปรแกรม สำหรับอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา กลุ่มนี้ต้องได้รับการปกป้องที่ดี ควรหลีกเลี่ยงพาไปสถานที่แออัด คนจำนวนมาก และขอให้คนสัมผัสเสี่ยงสูง หรือไม่ตรวจ ATK มาก่อน ไม่ควรใกล้เด็กเล็กมาก ผู้ปกครองที่ไปทำงานมา เวลาดูแลให้เด็กเล็กให้สวมหน้ากากด้วย เพื่อลดเสี่ยงแพร่เชื้อให้เด็กเล็กโดยเฉพาะที่มีโรคเรื้อรัง” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน