นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร (ก.ม.) วงเงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาทว่า รฟท. จัดทำร่างทีโออาร์แล้วเสร็จ 90% แต่ยังไม่สามารถเปิดประมูลได้ เนื่องจากต้องรอให้มีการออกประกาศเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับเหลักเกณฑ์ของผู้เข้าร่วมลงทุนในโครงการก่อนเช่น สัดส่วนการถือหุ้นระหว่างไทยกับต่างชาติ, เกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การใช้ที่ดิน เป็นต้น จากนั้น รฟท. จะต้องนำร่างทีโออาร์ที่จัดทำขึ้นไปเทียบเคียงกับประกาศว่าสอดคล้องกันหรือไม่ หากไม่สอดคล้องจะต้องทำการปรับเงื่อนไขใหม่

“ขณะนี้ทีร่างโออาร์เสร็จเกือบสมบูรณ์แล้ว แต่ต้องรอประกาศอีอีซีก่อนว่าจะมีข้อกำหนดเรื่องการร่วมทุนอย่างไรบ้าง เดิมรฟท. ตั้งเป้าที่จะออกประกาศเชิญชวนผู้เข้าร่วมประมูลในวันที่ 15 พ.ค. นี้ แต่ขณะนี้ประกาศยังไม่ออกเลยคาดว่าอาจจะต้องเลื่อนการประกาศเชิญชวนออกไปก่อนซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นช่วงไหน แต่เบื้องต้นตั้งเป้าที่จะให้มีการลงนามในสัญญาผู้รับจ้างให้ได้ในต้นปี 2562 จากนั้นเริ่มก่อสร้างได้ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2567”

รายงานข่าวจากรฟท. แจ้งว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีระยะทาง 220 กิโลเมตร รวม 5 สถานี ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยาและอู่ตะเภา อัตราความเร็ว 250 ก.ม./ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินอู่ตะเภาเข้ากรุงเทพฯ ภายในเวลา 45 นาที รูปแบบบการลงทุนนั้นจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลา 50 ปี อัตราค่าโดยสาร จากมักกะสัน-พัทยา 270 บาท และจากมักกะสัน-อู่ตะเภา 330 บาท เปิดพื้นที่การพัฒนา 3 จังหวัด ในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (อีไออาร์อาร์) ทั้งโครงการ มูลค่า 700,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 50 ปีแรก 400,000 ล้านบาท และ 50 ปีต่อไป 300,000 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน