นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 พ.ค. 59 มีทั้งสิ้น 5.97 ล้านล้านบาท คิดเป็น 43.35% ของจีดีพี ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 7.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 4.4 ล้านล้านบาท ลดลง 5.9 หมื่นล้านบาท เป็นผลมาจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 7,301 ล้านบาท ,การลดลงของตั๋วเงินคลัง 6 หมื่นล้านบาท ,การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ 1,696 ล้านบาท ,การกู้เงินบาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ จำนวน 168 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL)

นอกจากนี้ยังมีการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย จากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 1 หมื่นล้านบาท และการชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.18 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินก็ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แบ่งเป็นชำระเงินต้น 1 หมื่นล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 1,838 ล้านบาท

นายธีรัชย์ กล่าวอีกว่า หนี้สาธารณะที่ลดลง ยังเป็นผลมาจากหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน จำนวน 1 ล้านล้านบาท ลดลง 9,893 ล้านบาท เกิดจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยออกพันธบัตร 1,000 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยออกพันธบัตร 1,000 ล้านบาท บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 5,970 ล้านบาท บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 2,000 ล้านบาท

ขณะที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน มีรัฐบาลค้ำประกัน มีจำนวน 5.2 แสนล้านบาท ลดลงสุทธิ 2,788 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระหนี้เงินต้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จำนวน 2,793 ล้านบาท ส่วนหนี้หน่วยงานรัฐมีจำนวน 1.19 หมื่นล้านบาท ลดลง 337 ล้านบาท เกิดจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของสำนักงานธนานุเคราะห์จำนวน 328 ล้านบาท

“หนี้สาธารณะในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 5.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 94.17% และหนี้ต่างประเทศ 3.48 แสนล้านบาท หรือ 5.83% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และแบ่งเป็นหนี้ระยะยาว 5.2 ล้านล้านบาท หรือ 87.02% และหนี้ระยะสั้น 7.75 แสนล้านบาท หรือ 12.98% ของหนี้สาธาณะคงค้างทั้งหมด” นายธีรัชย์ กล่าว

นายธีรัชย์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังในปีงบประมาณ 2559 ว่า กระทรวงการคลังได้จำหน่ายพันธบัตรไปแล้วทั้งสิ้น 1.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 86% ของวงเงินที่จำหน่าย ทำให้เกหลืออีก 3,000 ล้านบาทเท่านั้น จากวงเงินทั้งสิ้น 2 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดสรรวงเงิน 5,450 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดสรร 6,450 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดสรร 3,850 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดสรร 4,250 ล้านบาท

สำหรับพันธบัตรออมทรัพย์กระทรวงการคลังครั้งที่ 2 มีจำนวน 2 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได แบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 เท่ากับ 1.75% ต่อปี ปีที่ 2-3 อัตราดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี ปีที่ 4 อัตราดอกเบี้ย 2.50% และปีที่ 5 อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-5 ดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี ปีที่ 6-9 อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ปีที่ 10 อัตราดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี โดยพันธบัตรดังกล่าวจะเปิดขายจนถึงวันที่ 31 ส.ค. 59 นี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมของประชาชนทั่วไป และเป็นทางเลือกในการลงทุนที่มั่นคง ไม่มีความเสี่ยง ได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนที่แน่นอนในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน