นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เตรียมยกร่างยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ภาคใต้ ปี 2561-2564 เพื่อกำหนดแนวทางบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ทั้งด้านการผลิต การตลาด การพัฒนางานวิจัยและพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ประมาณการผลไม้เศรษฐกิจใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ครั้งที่ 2 โดยคณะทำงานสำรวจไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ พบว่า ผลไม้ ทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ เงาะ มังคุด ทุเรียน และลองกอง ของ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง (ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 2561) ภาพรวมให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากประสบภัยแล้งในปี 2558-2559 และปี 2560 มีฝนตกช่วงกำลังจะออกดอกทำให้แตกใบอ่อนแทน และไม้ผลที่ออกดอกแล้วมีฝนตกชุกทำให้ดอกร่วง จึงได้ผลผลิตน้อย

ปีนี้ไม้ผลสภาพลำต้นสมบูรณ์พร้อมต่อการออกดอกติดผล ประกอบกับสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยตั้งแต่ต้นปีเป็นเหตุให้ผลไม้ออกดอกติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก โดย มังคุด มีเนื้อที่ให้ผล 50,276 ไร่ ปริมาณผลผลิต 27,655 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 550 กิโลกรัม ทุเรียน มีเนื้อที่ให้ผล 102,286 ไร่ ปริมาณผลผลิต 66,294 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 648 กิโลกรัม เงาะ มีเนื้อที่ให้ผล 41,570 ไร่ ปริมาณผลผลิต 22,596 ตัน และผลผลิตต่อไร่ 544 กิโลกรัม และ ลองกอง มีเนื้อที่ให้ผล 137,416 ไร่ ปริมาณผลผลิต 43,214 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 314 กิโลกรัม

สำหรับช่วงระยะเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดว่า มังคุดและทุเรียนจะเริ่มทยอยออกผลผลิตมากเดือนก.ค. และให้ผลผลิตสูงสุดในช่วงเดือนส.ค. โดยมังคุด ให้ผลผลิต 8,486 ตัน หรือ 31% ของผลผลิตทั้งหมด และทุเรียน 36,466 ตัน หรือ 55% ของผลผลิตทั้งหมด ขณะที่เงาะและลองกองจะเริ่มทยอยออกผลผลิตมากเดือนส.ค. และจะให้ผลผลิตสูงสุดในช่วงเดือนก.ย. โดยเงาะให้ผลผลิตปริมาณ 10,515 ตัน หรือ 47% ของผลผลิตทั้งหมด และลองกอง 15,787 ตัน หรือ 37% ของผลผลิตทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม สศท.9 จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยกำหนดลงพื้นที่สำรวจในเดือนพ.ค.-ก.ค. อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมวางแผนบริหารจัดการไม้ผลร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะหากสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวนอาจทำให้ปริมาณผลผลิตไม้ผลเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อีก กระทรวงเกษตรฯ ยังคงเน้นย้ำเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการเพื่อติดตามสถานการณ์ไม้ผลในแหล่งผลิตที่สำคัญของแต่ละจังหวัด เพื่อเตรียมวางแผนบริหารจัดการไม้ผลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยเป็นสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน