นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าฯ สำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2559 พบว่าจากการสำรวจทั่วประเทศ 1,221 ตัวอย่าง ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ 85.7% มีหนี้สินครัวเรือน โดยประชาชนเป็นหนี้จากการใช้จ่ายทั่วไป และยังพบว่าหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 9 ปี ตั้งแต่ปี 2551 ที่เริ่มสำรวจ หรือ 298,005.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.2% เป็นหนี้ในระบบ 62% หนี้นอกระบบ 37% จากปี 2551 ที่มีหนี้เพียง 135,166.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% เป็นหนี้ในระบบ 65% หนี้นอกระบบ 35%

สาเหตุหลักมาจากนโยบายรถยนต์คันแรกในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ก่อหนี้สูงเป็นอัตราเพิ่ม 2 หลักต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จากปี 2556 จนทำให้ไม่มีเงินพอเอาไปใช้จ่ายด้านอื่นๆ และจำนวนหนี้ครัวเรือนที่ 84% ของจีดีพีนี้ ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และทำให้สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อให้

แต่อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนที่สูงนี้ เกิดจากการซื้อรถยนต์ ซื้อบ้าน กู้มาลงทุนซื้อเครื่องมือเครื่องจักรประกอบอาชีพ เพื่อการศึกษา ซึ่งมองว่า เป็นหลักทรัพย์หนุนหลัง ที่กู้เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น จึงไม่ใช่ปัญหาที่รุนแรง และไม่น่ากังวัลกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงนี้ แม้ว่า ช่วง 3 ปีข้างหน้า ยังมีแนวโน้มว่าหนี้ครัวเรือนยังสูงอยู่ และยังมีโอกาสก่อหนี้เพิ่มอีก หากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ราคาของแพงขึ้น รายได้ลดลง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ดอกเบี้ยสูง

“แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้นแต่ก็ไม่น่าห่วง เพราะเป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นการกู้มาลงทุน และในปัจจุบันก็ถือว่ารัฐบาลแก้ปัญหามาถูกทางแล้วโดยเฉพาะการดึงหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง เข้ามาสู่การเป็นหนี้ในระบบ ที่ดอกเบี้ยต่มากขึ้น ด้วยการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปล่อยกู้ให้ประชาชนได้มากขึ้น ภาคประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น ทำให้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนขยายตัวในอัตราที่ลดลง สะท้อนจากปี 2558 ที่มีหนี้นอกระบบสูงถึง 51.3% แต่ปีนี้ลดฮวบฮาบเหลือเพียง 37.7% และลดต่ำสุดในรอบ 8 ปี ทั้งนี้มีเพียงกลุ่มแรงงานลูกจ้างรายวัน และกลุ่มเกษตรกรเท่านั้น ที่มีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง จากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค”

ทั้งนี้ ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่า 3% หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มในอัตรา 2 หลัก ตั้งแต่ปี 2555 ที่หนี้เพิ่มขึ้น 5.7% แต่ปี 2556 เพิ่มขึ้น 12% ปี 2557 เพิ่มขึ้น 16% ปี 2558 เพิ่มขึ้น 13% และกระโดดมาเป็น 20% ปี 2559 หรือจากที่ก่อหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 20,000-30,000 บาท เพิ่มเป็น 50,000 บาทในปีนี้ ซึ่งถือว่ามาก เกิดจากปัญหาเฉพาะจริงๆ ทั้งจากภัยแล้ง การส่งออกหดตัว และเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น ทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องก่อหนี้ ทั้งผู้ประกอบการที่ไม่ค่อยมีสภาพคล่อง ลูกจ้างไม่มีเงินเพิ่ม เกษตรกรไม่มีรายได้ จึงต้องไปกู้เงินมาหมุนสภาพคล่อง

แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่า หากรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ปีละ 4% จะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สะท้อนจากวัตถุประสงค์การกู้ยืม อันดับ 1 เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมาคือ เพื่อลงทุนประกอบธุรกิจ และซื้อยานพาหนะ ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ในรอบปีที่ผ่านมา ดีขึ้นจากปีก่อน จากอัตราการผ่อนที่เคยมีปัญหา 87.8% ปีก่อน ลดเหลือ 74.8% ในปีนี้ และมีความสามารถในการผ่อนจากเดือนละ 14,033 บาท เพิ่มเป็น 14,889 บาท หรือเพิ่มขึ้น 856 บาทถือว่าเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปีเช่นกัน และนับเป็นผลงานของรัฐบาลที่โดดเด่นทางด้านเศรษฐกิจด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน