นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบการปรับปรุงรายการโครงการภายใต้กิจการตามแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2558-2562 (Project Pipeline) เพิ่มเติมจำนวน 7 โครงการ

ได้แก่ โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถ Airport Rail Link ของการรถไฟแห่งประเทศไทย, โครงการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของกรุงเทพมหานคร, โครงการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ช่วงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2-ถนนโยธี ของกรุงเทพมหานคร, โครงการปรับปรุงและพัฒนาระบบจัดการน้ำเสียเคหะชุมชนร่มเกล้า ของกรุงเทพมหานคร, โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) สายบางปะอิน-นครสวรรค์ ของกรมทางหลวง, โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ของกรมการแพทย์ และโครงการศูนย์เฝ้าระวังและกักแยกผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่อร้ายแรง ของกรมควบคุมโรค

ผลจากการปรับปรุงดังกล่าว ทำให้มีโครงการที่อยู่ใน Project Pipeline รวมทั้งสิ้น 66 โครงการ มูลค่าวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 1,576,529.27 ล้านบาท เป็น 1,662,876.54 ล้านบาท นอกจากนี้ มีโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 12 โครงการ มูลค่าวงเงินลงทุนกว่า 7.2 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ โดยคาดว่าจะสามารถเสนอโครงการให้คณะกรรมการ PPP พิจารณาได้ในปี 2560

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบความคืบหน้าโครงการที่ดำเนินการตามมาตรการ PPP Fast Track รวม 5 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอการเข้าร่วมลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งกำหนดให้เอกชนจัดส่งข้อเสนอในเดือน พ.ย.2559, โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการส่วนต่อขยายฯ และคณะกรรมการกำกับดูแลของโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ในการพิจารณาแนวทางการเดินรถร่วมกันเป็นโครงข่ายเดียว (Through Operation) ก่อนการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมแทนเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลต่อไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 42/2559, โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ได้รายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ โดยมอบหมายให้กรมทางหลวงเร่งสร้างความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายโดยเร็ว เพื่อให้โครงการ M6 และ M81 สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผน

ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในประเทศไทยของคณะทำงานด้านการดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ภายใต้คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (Public-Private Steering Committee)

นายเอกนิติ กล่าวว่า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่ กาญจนบุรี ที่จะให้เอกชนร่วมลงทุนระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและซ่อมบำรุงรักษา (O&M) นั้น ที่ประชุมฯ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาศึกษาข้อกฏหมายให้เกิดความชัดเจนว่าจะเป็นในรูปแบบที่รัฐต้องรับความเสี่ยง หรือเอกชนต้องรับความเสี่ยง และไปศึกษาว่ารูปแบบการเวนคืนที่ดินจะสามารถทำแบบสัมปทานได้หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน