นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ แถลงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ว่า มีแนวโน้มที่ดี โดยการส่งออกทั้งปีจะเป็นบวกไม่ต่ำกว่า 9% มูลค่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจัยค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง ซึ่งเชื่อว่าทั้งปีก็น่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ 32-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่การส่งออก 5 เดือนก็ยังขยายตัวในระดับสูงถึง 11.6% สอดคล้องกับความสามารถในการแข่งขันของไทยและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมีสินค้าสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อน เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ขยายตัวได้ดี รวมทั้งสินค้าเกษตรสำคัญก็มีแนวโน้มปรับตัวที่ดีตามลำดับ ทั้งจากความต้องการและราคาที่ยังขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายของแรงกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการปรับลด TIP Report ลงมาเป็น Tier 2 ในขณะที่การนำเข้ายังขยายตัวและเอื้อต่อการผลิตและสนับสนุนการบริโภคในประเทศ โดย 5 เดือนขยายตัว 16.6% โดยรวมแล้วการค้าระหว่างประเทศยังเกินดุลในระดับที่ดี

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ตลอดเวลา ขณะที่สงครามการค้าไม่ได้กระทบกับประเทศไทยมากนัก ขณะเดียวกันพบว่าเศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มจะสดใส เนื่องจากการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าเกษตร เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ราคาเป็นบวกต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้รายได้ของแรงงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันกระทรวงเดินหน้าลดค่าครองชีพให้กับประชาชนภายใต้โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ลดค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้ถือบัตรตั้งแต่เริ่มโครงการ 7% หรือกว่า 10,000 ล้านบาท ส่วนด้านเสถียรภาพราคา พบว่าเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับแบบค่อยเป็นค่อยไป ล่าสุด มิ.ย. 1.38%, และ 6 เดือนแรก 0.97% โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี

นายสกนธ์ กล่าวอีกว่าการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐและการค้าระหว่างประเทศ มีสัญญาณที่ดีขึ้นทุกตัวโดยการบริโภค มีสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับปริมาณเงินในระบบ ในขณะที่การลงทุนขยายตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ ยังขยายตัวได้ดีจากการดำเนินนโยบายแบบขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยจะเห็นว่าการใช้จ่ายของรัฐขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จาก 0.2% ในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา เป็น 1.9% ในไตรมาสล่าสุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน