ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2561 สัญญาณการขยับ “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะล่าสุดที่ประชุม กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ต่างจากที่ผ่านมาที่มีมติเป็นเอกฉันท์ หรือมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ย

ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า ในการประชุม กนง.อีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ (อาจจะ) มีสิทธิ์เห็นการขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 0.25%

คณะกรรมการ กนง. 2 เสียง ที่เห็นควรว่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ยให้เหตุผลว่า ความต่อเนื่องของการขยายตัวเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร

จึงควรต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ขานรับกับการส่งสัญญาณของ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในตลอดช่วงที่ผ่านมา ว่าหลังจากนี้หากต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็ไม่ได้หมายความว่า ธปท.จะยกเลิกการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ไม่ใช่การผ่อนคลายแบบมากๆ เหมือน ที่ผ่านมา

การขึ้นดอกเบี้ยก็ไม่ใช่การขึ้นแบบแรง ไม่ขึ้นต่อเนื่อง สาเหตุเพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจอยู่กับอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานจนเกิดความชะล่าใจ

นอกจากนี้มองว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ที่มีแนวโน้มชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษลดน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศอุตสาหกรรมหลัก เริ่มมีทิศทางปรับขึ้นต่อเนื่อง ไทยก็ไม่สามารถใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสวนทางได้

และอีกประเด็นที่กดดันดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่พ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ขยับดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็นอยู่ระหว่าง 2.00-2.25%

อีกทั้งตามแผนเดิม เฟดจะขยับดอกเบี้ยอีกรอบภายในเดือนธ.ค. ส่วนปีหน้าวางแผนปรับดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งด้วย

การโยนหินก้อนใหญ่ ในลักษณะ “พร้อมจะขึ้นดอกเบี้ย” อย่างต่อเนื่องของแบงก์ชาติ ร้อนถึงกระทรวงการคลัง ที่รับผิดชอบขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตเข้าเป้า 4-5% ต่อปีให้ได้ หากขยับดอกเบี้ยขึ้นอาจส่งผลให้การเติบโตเศรษฐกิจต้องมีปัญหา

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ถึงกับนั่งไม่ติดเก้าอี้ จนต้องออกมาติดเบรกกันหลายรอบ

แสดงแบบทุบหม้อข้าวว่า คลังกับแบงก์ชาติ มองกันไปคนละทาง

“การส่งสัญญาณของ กนง. ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปลาย ปีนี้ เป็นไปตามแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกที่ต้องขึ้น แต่ในส่วนของไทยต้องดูว่าควรจะขึ้นเมื่อไหร่ และต้องขึ้นในจังหวะ ที่เหมาะสม ไม่ทำให้เศรษฐกิจ ของประเทศมีปัญหา เช่น การขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไป ส่งผลกระทบทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาอีก ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอีก จะเป็นเรื่องที่ไม่ดีกับการส่งออกและเศรษฐกิจ”

รมว.คลังกล่าว และว่ากนง.ก็ต้องชั่งน้ำหนักว่าควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ แต่หาก กนง.มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจมันดีมากๆ แล้วจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในตอนนี้ ก็เป็น สิ่งที่ กนง.ต้องตัดสินใจ

ตอนนี้ ธปท.บอกว่าเป็นห่วงเงินบาทจะแข็งค่าจากเงินทุนไหลเข้า รวมทั้งการปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2562 จะต่ำลงอีก แล้วจะมาขึ้นดอกเบี้ยในตอนนี้ จะไปขึ้นดอกเบี้ยทำไม ซึ่ง ธปท.มีอิสระในการตัดสินใจ แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศด้วย ไม่ใช่อิสระและให้ประเทศเป็นอย่างไรก็ได้

นายอภิศักดิ์ระบุอีกว่า ความเป็นห่วงเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐและจีน รวมถึงสงครามการค้า ถ้า ธปท.เป็นห่วงปัจจัยดังกล่าว ยิ่งไม่ควรขึ้นดอกเบี้ย และควรจะต้องรอดูว่าสงครามการค้าจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน หากเศรษฐกิจไทยโดนกระทบมาก ธปท.ก็ต้องชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ไม่ใช่ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วจะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา

ส่วนที่ห่วงว่า ถ้ามีการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำเป็นเวลานาน ทำให้ตลาดคาดการณ์และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน จนทำให้เกิดความเสี่ยง มันไม่เกี่ยวข้องกัน การหาผลตอบแทน คือการที่นักลงทุนไปหาผลตอบแทนที่ดีขึ้น

“นักลงทุนสมัยนี้ดูแลตัวเองเป็น และผู้ลงทุนส่วนมากเป็น รายใหญ่ทั้งนั้น ส่วนรายเล็กก็ยังฝากเงินอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ทั้งนั้น ยังไม่ได้นำเงินไปไหน”

เมื่อเห็นท่าทีของกระทรวงการคลังเช่นนี้ทำให้นายวิรไท จึงออกมาชี้แจง ความไม่ชัดเจนเรื่องทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง โดยระบุว่าในระยะปานกลาง ยังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง และอย่าไปเข้าใจผิดว่าถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะต้องปรับขึ้นตลอดไปเรื่อยๆ แต่จะใช้หลักประเมินในแต่ละช่วงเวลาของการตัดสินใจ

“ธปท. พร้อมเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายรอบด้านในการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยทุกครั้งที่ผ่านมา จะมีกระบวนการเก็บข้อมูลจากฐานราก ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ ตลอดจนนักวิเคราะห์ และนักวิชาการต่างๆ”

นายวิรไทกล่าว และว่า ส่วนประเด็นเรื่องสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่กนง. แสดงความเป็นห่วงมาอย่างต่อเนื่องในระยะหลังนั้น โดยธปท. จะหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะออกนโยบายใดๆ

ด้านนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ออกมาให้ความเห็นว่า การประชุมกนง.ครั้งต่อไป แม้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แต่ไทยไม่มีความจำเป็นต้องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างมั่นคง ถ้าขยายตัวต่ำกว่า 5% ต้องถือว่ายังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ไม่ควรจะขึ้นดอกเบี้ย ต้องให้น้ำหนักกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ

นอกจากนี้เห็นว่า ธปท.มีความเป็นอิสระจนเกินขอบเขต และไม่ต้องรับผิดชอบความอยู่ดีกินดีของประชาชน ราคาสินค้าเกษตรและการส่งออก ภาวะเศรษฐกิจ รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ รัฐมนตรีคลังต้องรับผิดชอบ แต่ไม่มีอำนาจอะไรเลยเกี่ยวกับนโยบายการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและอื่นๆ เพราะเป็นอำนาจของ ธปท.ทั้งสิ้น

ขณะที่ความเห็นของภาคเอกชน เริ่มที่ นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ถือว่าเหมาะสม แม้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ได้แข็งแกร่งอย่างมีนัยสำคัญ มองว่ายังไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในขณะนี้

“หากปรับขึ้นจะส่งผลกระทบให้เงินบาทแข็งตัว ส่งออกยิ่งลำบาก หากจะขึ้นดอกเบี้ยควรทำในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวดีที่ประมาณ 5-6% เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ มองว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยอาจมีโอกาสขยายตัวได้ 5-6% โดยเฉพาะครึ่งปีแรกจะเห็นชัดเจนได้มากขึ้น”

ส่วน นางแก้วเก้า เผอิญโชค นายกสมาคม ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ย้ำว่าหากปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง แน่นอนว่าต้องมีผลต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก

“ปัจจุบันเท่าที่ได้สัมผัสผู้ประกอบการ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เศรษฐกิจซบเซามาก บางรายบอกว่าซบเซามากที่สุดในรอบ 15 ปี แต่รัฐบาลกลับบอกว่าเศรษฐกิจดี แต่รากหญ้ากลับบอกว่าไม่ดี”

ปัญหาดอกเบี้ยนโยบายว่าควรจะ “ขึ้น” หรือ “คง” เอาไว้ในระดับเดิม ทุกฝ่ายต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะผลของมันกระทบในวงกว้างเหลือเกิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน