กพอ. เห็นชอบอนุมัติตามหลักการลงทุน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซี พัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา-ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เตรียมชงเข้าครม.พิจารณากลางเดือนต.ค.นี้ เพื่อเร่งออกเอกสารชี้ชวนเอกชนประมูลในเดือนนี้เช่นกัน

ลงทุน 4 โครงการในอีอีซี – นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยผลการประชุมกพอ. ครั้งที่ 4/2561 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติหลักการลงทุน 4 โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยทั้งหมดกำหนดออกหนังสือชี้ชวนเอกชนประมูล (ทีโออาร์) ได้ในเดือนต.ค.นี้ ประกอบด้วยโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กำหนดลงทุนรวม 2.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรัฐลงทุน 17,768 ล้านบาท และเอกชน 272,232 ล้านบาท คาดได้รายชื่อผู้ร่วมทุนในเดือนก.พ. 2562 และเปิดดำเนินการได้ในปี 2566

โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา เงินลงทุนรวม 10,588 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐ 6,333 ล้านบาทและเอกชน 4,255 ล้านบาท คาดได้เอกชนร่วมทุนเดือนธ.ค. 2561 เปิดดำเนินการได้กลางปี 2565 โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีแผนขยายท่าเรือให้เป็นท่าเรือระดับภูมิภาค เพิ่มความสามารถรองรับการให้บริการขนส่งสินค้าได้ถึง 18 ล้านTEU จากปัจจุบันอยู่ที่ 11 ล้านTEU กำหนดเงินลงทุนรวม 114,047 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนโครงการท่าเรือ F 84,361 ล้านบาท โดยภาครัฐลงทุน 53,490 ล้านบาทและเอกชน 30,871 ล้านบาท

ลงทุน 4 โครงการในอีอีซี

โครงการท่าเรือ E อีก 29,686 ล้านบาท ซึ่งเอกชนจะลงทุน ซึ่งมีกำหนดได้เอกชนร่วมทุนเดือนก.พ. 2562 เปิดดำเนินการได้ปลายปี 2566 โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ที่มีแผนเพิ่มขีดความขนถ่ายก๊าซธรรมชาติสามารถ 10.8 ล้านตันต่อปี และสินค้าเหลว ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี เงินลงทุนรวม 55,400 ล้านบาท รัฐลงทุน 12,900 ล้านบาท ที่เหลือเอกชนลงทุน 42,500 ล้านบาท กำหนดได้เอกชนร่วมทุนเดือนม.ค.2562 และเปิดดำเนินการได้ต้นปี 2568

“เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักอีอีซี 652,559 ล้านบาท เป็นรัฐลงทุน 209,916 ล้านบาท หรือร้อยละ 32 ของทั้งหมด และเอกชน 442,643 ล้านบาท โดยเชื่อว่าจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในอนาคตได้กว่า 8 แสนล้านบาท รัฐได้ผลตอบแทนทางการเงินถึง 4 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานมากกว่า 4 หมื่นตำแหน่งต่อปี ซึ่งแผนทั้งหมดจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในช่วงกลางเดือนต.ค.นี้ ก่อนออกเอกสารชี้ชวนประมูลต่อไป”

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมการลงทุนในอีอีซีทั้งหมดอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบร่วมทุนรัฐเอกชน 652,559 ล้านบาท และรัฐลงทุนเอง 99,600 ล้านบาท รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมและอื่นๆ อาทิ การพัฒนาเมือง และการท่องเที่ยว 947,841 ล้านบาท นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบข้อเสนอของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เกี่ยวกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอีอีซี หรือ เป็นสมาร์ทปาร์คไทยแลนด์ระยะ 5 ปีดำเนินการบนพื้นที่ 1,000 ตร.ก.ม. ในอำเภอศรีราชาด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน