เอกชนเหนือตอนบนชงของบรัฐ 866 ล้าน ดันอุตฯศักยภาพพื้นที่ ชา กาแฟ ไผ่ สมุนไพร แฟชั่นล้านนา ติดตลาดโลก พร้อมปัดฝุ่นฟู้ดวัลเลย์ปั้นไทยสู่ครัวโลก หลังอดีตทำสะเปะสะปะคนละทิศทาง

เอกชนเหนือตอนบนชงขอ 866 ล. – นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่หารือกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ว่า ภาคเอกชนในพื้นที่ของบประมาณพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพรวม 866 ล้านบาท แบ่งเป็นอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะชา กาแฟ 750 ล้านบาท เพื่อยกระดับการผลิตชา กาแฟให้เป็นสินค้าพรีเมียม สร้างแบรนด์สู่ตลาดโลก เช่น การพัฒนานวัตกรรมเพิ่มมูลค่าชา สอดคล้องความต้องการตลาด พัฒนาระบบเคาะปลูกสู่การผลิตมาตรฐานจีเอ็มพี และออแกนิก ซึ่งขณะนี้ทั้งกาแฟ และชาของไทยได้รับการยอมรับในตลาดโลกอยู่แล้ว

ส่วนอุตสาหกรรมสมุนไพร ของบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์สมุนไพรครบวงจร สร้างแบรนด์ไทยเฮิร์บให้เป็นที่รู้จักของตลาดโลก ซึ่งแต่ละปีกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพรไทยมีมูลค่ารวมกว่า 100,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมไผ่ ของบประมาณ 40 ล้านบาท ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมไผ่ครบวงจร ทดแทนการนำเข้าไม้จากต่างประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมไผ่ภาคเหนือประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมสิ่งทอ ของบประมาณ 26 ล้านบาท เตรียมพัฒนาคลัสเตอร์แฟชั่นล้านนาตะวันออก พัฒนานักออกแบบรุ่นใหม่ ซึ่งเร็วๆ นี้ จะไปประกวดที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

“ตอนนี้ให้ภาคเอกชนที่ของบประมาณเข้ามาไปจัดทำแผนลงลึกในรายละเอียดว่า มีขั้นตอนกระบวนการอย่างไรบ้าง จากนั้นถึงจะมาพิจารณางบประมาณที่ขอมาว่า ต้องใช้จากส่วนใดบ้าง ส่วนใดที่กระทรวงอุตสาหกรรมมี หรือส่วนใดต้องขอเพิ่มเติม รวมทั้งจะใช้เครื่องมือของกระทรวงไปพัฒนา เช่น ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมอนาคต หรือไอซีที ที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศของศูนย์ภาค 13 แห่ง และศูนย์มินิไอทีซี 64 แห่ง หรือการขอมาตรฐานต่างๆ จะให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้าไปดู”

นอกจากนี้ ให้นำโครงการนอร์ทเทิร์น ไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ ที่เคยดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนทั้งหมด ซึ่งเป็นโครงการตั้งแต่ปี 2555 ดำเนินการให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแปรรูปเกษตร และอาหารของไทยให้มีคุณภาพสูง สู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางอาหารโลก จากที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ ซึ่งหลังจากที่เราได้แผนจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ อย่าง ชากาแฟ สมุนไพร และไผ่ จะทำให้เห็นว่าต้องนำเครือข่ายอะไรมาเสริมกัน

ด้านนายเกรียงไกร วีระฤทธิพันธ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 กล่าวว่า ได้เสนอโครงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปด้วยนวัตกรรม สู่ เอสเอ็มอี 4.0 เนื่องจากต้องการยกระดับเกษตรกรมาเป็นผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ การสร้างโรงงานต้นแบบ เชื่อมโยงไปสู่ฐานการผลิตโออีเอ็ม มาตรฐานสากลของภูมิภาค พร้อมกับเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยเข้ามาศึกษาและวิจัยผลิตภัณฑ์ เนื่องจากมีการเพาะปลูกจำนวนมาก และมีการพัฒนาพันธุ์พืชให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูง โดยชา มีเพาะปลูก 50,000 ไร่ ผลผลิต 48,000 ตันต่อปี ปลูกกาแฟ 45,000 ไร่ ผลผลิต 5,500 ตันต่อปี และปลูกสมุนไพร 800-1,800 ชนิด มีผู้ประกอบการ 1,200 ราย เป็นโรงงาน 106 แห่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน