รายงานพิเศษ

เศรษฐกิจไทยปี 2560 มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปลายปี 2559 เห็นได้จากการส่งออกในเดือนพ.ย.มีมูลค่าการค้า 18,911 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน ขณะเดียวกันปีนี้แนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นยังส่งผลบวกต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรบางรายการ

ทำให้ทุกฝ่ายเชื่อว่าปีนี้น่าจะเป็นปีที่การส่งออกไปได้สวย

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ในปี 2560 การส่งออกไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในกรอบ 1-3% จากเดิมคาดไว้โต 0-2%

“หากรัฐบาลขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ตามที่ภาคเอกชนมีข้อเสนอไปยังนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ที่ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายในลักษณะของค่าเสื่อมราคาได้ 2 เท่าของรายจ่าย เพื่อการลงทุนหรือต่อเติมเปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้น ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ โดยเป็นการลงทุนในทรัพย์สิน แต่เนื่องจากระยะเวลาในการใช้สิทธิ์สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2559 ที่ผ่านมา”

นายอิสระกล่าวและว่า จากการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการภาคเอกชนของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นว่าเป็นมาตรการที่ดีมาก สมาชิกประมาณ 80% แจ้งว่าจะขอให้สิทธิ์เพื่อขยายการลงทุนในปี 2560 หากมีการขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนในประเทศออกไปอีก เชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนให้เอกชนขยายการลงทุน มีเม็ดเงินเอกชนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และเป็นการช่วยเสริมแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ให้เติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา

 

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกของไทยว่า การส่งออกไทยปี 2560 จะขยายตัว 1.3-4.2% คิดเป็นมูลค่า 218,403-224,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ย 2.8% คิดเป็นมูลค่า 221,583 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เนื่องจากเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดหลัก อย่างสหรัฐที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.4%

ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่ทิศทางอ่อนค่าลง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยปรับสูงขึ้น ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับขึ้น เช่นเดียวกับราคาสินค้าเกษตรที่สูงเพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อกำลังซื้อและมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทย การค้าชายแดนในปีนี้น่าจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย

“อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจและการเมืองทางฝั่งยุโรปที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งนโยบายทางการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะส่งผลต่อการค้าทั่วโลก และอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยให้ไปจีนได้ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากสหรัฐฯ นำเข้าจากจีนถึง 21.5% และจีนครองตลาดเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าในสหรัฐ มากสุด”

นายอัทธ์กล่าวอีกว่า นโยบายทรัมป์จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าและบริการจีนเพิ่มเป็น 45% หากจีนยังคงใช้นโยบายค่าเงินอ่อน ซึ่งอาจส่งผลให้จีนส่งออกไปสหรัฐได้น้อยลง ทำให้สินค้าจากจีนไหลทะลักเข้ามาในไทย ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศได้ ดังนั้นหากทรัมป์ใช้นโยบายดังกล่าว ไทยจึงควรทำตลาดในสหรัฐ ในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และยางพาราให้มากขึ้น

นโยบายทรัมป์จะส่งผลกระทบทางอ้อมให้ไทยส่งออกไปจีนได้ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้า เครื่องจักรไฟฟ้า/อุปกรณ์ไฟฟ้า (วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และวงจรพิมพ์ เป็นต้น) และเครื่องจักร/เครื่องกล ไทยมีโอกาสขยายตลาดในสหรัฐในกลุ่มเครื่องจักร/เครื่องกล เครื่องจักรไฟฟ้า/อุปกรณ์ไฟฟ้า และยางพาราและผลิตภัณฑ์

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่าการส่งออกในปี 2560 คาดว่าจะเติบโตแม้ยังมีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง เมื่อเทียบกับปีนี้ โดยเฉพาะความรุนแรงการผันผวนค่าเงิน ราคาน้ำมันและพลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุน แต่ก็หวังส่งออกไทยปี 2560 จะกลับมาเป็นบวกได้แต่คงไม่มากนัก

รวมทั้งเมื่อพิจารณาถึงทิศทางของภาคการผลิตและอุตสาหกรรมที่ยังทรงตัวและอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับเวียดนามได้ ดังนั้น ไทยควรเร่งผลักดันการเจรจาการค้าเสรีภายใต้กรอบของอาเซป เพื่อให้เกิดโอกาสทางการตลาดเพิ่มมากขึ้นควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาภายในประเทศด้านอื่นๆ ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น

 

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันภาคส่งออก ผ่านกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประมาณการส่งออกว่าจะขยายตัว 3% ภายใต้สมมติฐาน ค่าเงิน 35 บาท/เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมัน 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งปี 221,446 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงขยายตัวอย่างเปราะบาง

ในเดือนก.พ.นี้จะประชุมสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ จากทั่วโลกก็จะมีการรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและการส่งออกในปัจจุบัน รวมทั้งนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ว่าจะมีผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและไทย

คาดว่าประธานาธิบดีจะมีการแถลงนโยบายในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งกรมจะนำปัจจัยทั้งหมดมาเพื่อประเมินตัวเลขการส่งออกอีกครั้ง และอาจจะมีการปรับแผนเพื่อให้การส่งออกของไทยเป็นไปตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังคงเป้าหมายเดิมไว้ ภายใต้การคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ว่าจะขยายตัว 3.4% มีกลไกขับเคลื่อนสำคัญจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอินเดีย และอาเซียน ในขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกยังคงชะลอตัว ทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ตลอดจนสหรัฐฯ ซึ่งมีความไม่แน่นอนจากนโยบายที่ยังไม่ชัดเจนของประธานาธิบดีคนใหม่

มีปัจจัยสนับสนุนคือ ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากกลุ่มประเทศ Emerging Market หรือ ตลาดเกิดใหม่ ประกอบด้วยอินเดีย อาเซียน รัสเซีย ตะวันออกกลาง) ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีในปีหน้า

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยธนาคารโลกคาดการณ์ราคาน้ำมัน ปี 2560 ไว้ที่ 55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากผลการเจรจาของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปก) ที่บรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิต

 

ขณะเดียวกัน ก็มีปัจจัยเสี่ยง ที่จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ค่าเงินบาทมีความผันผวน การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ที่อาจจะทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคมีทิศทางอ่อนค่าลง ความไม่แน่นอนของนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่

สถานการณ์การเงินของยุโรปและจีน มาตรการทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อาทิ การเก็บภาษี VAT สินค้านำเข้า 10% ของลาว (นำร่อง ณ ด่านสะพานมิตรภาพเวียงจันทน์-หนองคาย เมื่อเดือน พ.ย.2559) และการเตรียมจะขึ้นภาษีแวตของญี่ปุ่น จาก 8% เป็น 10% ในปี 2562 และมาตรการจำกัดการปล่อยก๊าซ CO2 (CAF?) ของตะวันออกกลาง เป็นต้น

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยืนยันว่ากรมจะยังยึดแผนผลักดันการส่งออกตามเดิมที่กำหนดไว้ และมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ ฟื้นตัว โดยกรมได้เชิญภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละภูมิภาคมาเป็นที่ปรึกษาประจำภูมิภาคต่างๆ เพื่อผลักดันการส่งออกแผนระยะสั้น และแผนปฏิรูประยะยาว เน้นการบูรณาการใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ-เอกชน

แบ่งเป็นตลาดจีน มี นายณรงค์ เจียรวนนท์ จากเครือซีพี เป็นที่ปรึกษา

ภูมิภาคยุโรป มีที่ปรึกษาคือ นางจริยา จิราธิวัฒน์ จากกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งได้เข้าไปลงทุนห้างสรรพสินค้าในยุโรป เช่นในอิตาลี เยอรมนี และเดนมาร์ก

ตลาดสหรัฐ ซึ่งรวมละตินอเมริกาด้วย มี นายธีรพงศ์ จันสิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยยูเนียน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TUF เป็นที่ปรึกษา

ภูมิภาคอาเซียน มี นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มทีซีซี ของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี

ภูมิภาคญี่ปุ่น มี นายบุญเกียรติ โชควัฒนา จากเครือสหพัฒน์ เป็นที่ปรึกษา

ภูมิภาคเอเชีย ใช้ นายพรชัย วิทยาคุณสกุลชัย จากกลุ่มเอสซีจี

และ ภูมิภาคแอฟริกา รวมถึงตะวันออกกลาง มี นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ จากบริษัท ดับเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษา

ดูคาดการณ์จากหลายๆ ฝ่าย และการรุกหนักของภาครัฐที่จับมือกับเอกชนแล้ว การส่งออกของไทยในปีนี้อย่างไรเสียคงไม่ติดลบเหมือนที่ผ่านๆ มาแน่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน