นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2559 ณ กรุงดาวอส สหพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 17-20 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า ได้มีการหารือถึงการปรับหลักเกณฑ์ชี้วัดขีดความสามารถทางการแข่งขันของนานาประเทศทั่วโลกที่ WEF จะนำมาปรับใช้ในปีนี้ กระทรวงฯ จึงเตรียมนำข้อมูลดังกล่าวมาเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตรวจตัวชี้วัดต่างๆ นำมาสู่กับปรับอันดับขีดความสามารถของไทยขยับจากอันดับที่ 13 มาติด 1 ใน 10

“ตอนนี้ได้เชิญ WEF มาเพื่ออธิบายให้แต่ละหน่วยงานเข้าใจถึงวิธีการรวมทั้งข้อมูลต่างๆ ที่จะนำมาเป็นตัวชี้วัดในการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะใช้ปีนี้ ซึ่ง WEF ตอบรับการเชิญดังกล่าวและเตรียมเดินทางมาชี้แจงข้อมูลในช่วงเดือน พ.ค.นี้ โดยจะถือเป็นสัญญาณที่ดีของไทยถึงการรับรู้ข้อมูลตัวชี้วัดเพื่อนำมาปรับปรุงก่อนจะมีการประเมินขีดความสามารถ นอกจากนี้ทาง WEF ยังชื่นชมถึงความเข้มแข็งของเศรษฐกิจมหาภาคในไทย ดังนั้นประเด็นในส่วนนี้จึงถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ไทยขยับตำแหน่งขีดความสามารถขึ้นมาได้ หากมีการปรับปรุงเพิ่มเติมอย่างถูกจุดตามหลักเกณฑ์ชี้วัด”

สำหรับกรณีของนโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนล่าสุดที่มีการประกาศนโยบายหาเสียงถึงการฟื้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นหลัก รวมทั้งยังมีการประกาศจะยกเลิกการตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) จากการประเมินขณะนี้มองว่าจะไม่มีผลกระทบกับไทย เนื่องจากไทยยังไม่เข้าร่วม อีกทั้งปัจจุบันไทยยังอยู่ระหว่างการเร่งเจรจาความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้และเข้ามาเพิ่มโอกาสทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ขณะเดียวกันยังมีการเจรจาในส่วนของกรอบข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนสหรัฐฯ (TIFA) ซึ่งปีนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ดังนั้นจึงมั่นใจว่านโยบายที่ทรัมป์ประกาศออกมาจะยังไม่กระทบต่อการค้าระหว่างไทย

นางอภิรดี ยังกล่าวอีกว่า นโยบายฟื้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับไทยและนานาประเทศ เพราะหากสหรัฐฯ มีเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะทำให้ประเทศคู่ค้าอื่นๆ มีเศรษฐกิจดีตามไปด้วย เช่นเดียวกับประเด็นการถอนการลงทุนของประเทศต่างๆ กลับไปสหรัฐฯ จากการพูดคุยกับนักลงทุนมองว่าสหรัฐฯ คงไม่สามารถถอนการลงทุนกลับไปได้ทั้งหมดเนื่องจากยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ราการสินค้าบางประเภทไม่สามารถผลิตเองได้เพราะหากสหรัฐฯ นำกลับไปผลิตในประเทศ อาจจะมีปัญหาเรื่องของต้นทุนที่ไม่เท่ากับการตั้งฐานผลิตในอาเซียน โดยเบื้องต้นนักลงทุนยังยืนยันจะลงทุนฐานการผลิตในไทยและอาเซียน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

“มาตรการตอบโต้ทางการค้าที่สหรัฐฯ จะมีออกมาตามที่ทรัมป์ประกาศนโยบายหรือไม่นั้น ตอนนี้ไม่กังวลเพราะเป็นเรื่องปกติของทุกประเทศ แต่เชื่อว่าเนื่องจากสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศการค้ามาตลอด ดังนั้นจะต้องดำเนินการการค้าที่เป็นธรรมให้เกิดประโยชน์กับตนและคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เองไทยและอาเซียนก็จะต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานมากขึ้นเพื่อรองรับต่อกฎระเบียบหลักเกณฑ์สินค้าต่างๆ ที่สหรัฐฯ อาจออกมาเข้มข้น แต่ขณะนี้ยังขอชี้แจงนโยบายของทรัมป์ที่ประกาศออกมาก็ยังไม่ชัดเจนรวมทั้งต้องรอดูการปฏิบัติหลังรับตำแหน่งอีก ดังนั้นเพื่อประเมินสถานการณ์ให้ชัดเจนอาจจะต้องใช้เวลารอดูแนวทางปฏิบัติ”

ทั้งนี้ สำหรับเป้าหมายการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในปี 2560 จากการประเมินของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ในสหรัฐฯ ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ยังคงตั้งเป้าส่งออกตลาดดังกล่าวในปี 2560 ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3% พร้อมทั้งคงสัดส่วนตลาดสำคัญในการส่งออกของไทยอยู่ที่ 10% ไม่แตกต่างจากปีก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน