จีนส้มหล่นรับเพิ่มอีก 3 พันล้าน หลังไทยปรับเพิ่มเนื้องานสัญญา 2.3 งานระบบไฮสปีดไทย-จีน กทม.-โคราช ชงลงนาม ก.พ. นี้ ที่ปักกิ่ง

จีนส้มหล่นรับเพิ่มอีก 3 พันล้าน – นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการเตรียมการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 27 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ว่า 2 ฝ่ายตั้งเป้าที่จะลงนามร่วมกันในสัญญา 2.3 คือ งานวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ ซึ่งจีนรับไปดำเนินการ มูลค่า 38,558 ล้านบาท ในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย-จีน ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กิโลเมตร

โดยขณะนี้ เร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดทำร่างสัญญา 2.3 เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ทันก่อนการประชุมลงนามในเดือนก.พ. คาดว่าอาจต้องใช้ระยะเวลา เพราะมีปัญหาด้านเทคนิคซึ่งจะต้องมีการปรับแก้ไขรายละเอียดเนื้องานในสัญญา 2.3 ใหม่ โดยจะต้องโอนงานก่อสร้างรางบางส่วนซึ่งเดิมถูกบรรจุอยู่ในสัญญา 2.1 งานก่อสร้าง ให้มาอยู่ในสัญญา 2.3 งานระบบ เนื่องจากฝ่ายไทยได้มีการขอให้จีนปรับเปลี่ยนรูปแบบการวางรางจากระบบใช้หินโรยทางมาเป็นการใช้คอนกรีตแทนเหมือนรางของรถไฟฟ้าบีทีเอส

“ได้เร่งให้รถไฟฯ ไปเจรจากับจีนให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว โดยจะต้องโอนงานก่อสร้างรางในสัญญา 2.1 ซึ่งเดิมเป็นงานที่เราเปิดให้ผู้รับเหมาไทยเข้าร่วมประมูล มาให้ฝ่ายจีนเป็นผู้ดำเนินการ เพราะจะโอนย้ายงานเข้ามาอยู่ในสัญญา 2.3 ซึ่งเป็นเรื่องของงานระบบแทน ส่วนงานที่โอนย้ายมาให้จีนจะมีมูลค่าเท่าไหร่นั้น รฟท. อยู่ระหว่างการคำนวณตัวเลขที่ชัดเจน”

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่เป็นปัญหาและต้องเร่งหาข้อสรุปร่วกันคือ ระยะเวลาในการรับประกันงานในสัญญา 2.3 เนื่องจากไทยและจีนยังมีความเห็นที่แตกต่าง โดยฝ่ายไทยเสนอให้จีนรับประกันความเสียหายจากงานในสัญญา 2.3 เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายไทยกำหนด ขณะที่จีนยืนยันที่จะให้การรับประกันความเสียหายเพียง 1 ปีเท่านั้น ส่วนประเด็นเรื่องแหล่งเงินทุนในการดำเนินการตามสัญญา 2.3 นั้น ขณะนี้ฝ่ายจีนได้เสนอตัวเลขอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาให้ฝ่ายไทยพิจารณาแล้วเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะตัวเลขที่ปรับลงต่ำกว่า 3% จากอัตราเดิมแล้ว ซึ่งระหว่างนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมว่าจะกู้เงินจากจีนหรือกู้เงินภายในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ยังพอมีเวลาในการพิจารณา

รายงานข่าวจากรฟท. แจ้งว่า งานปรับรูปแบบการวางรางจากระบบหินโรยทางมาเป็นใช้รูปแบบคอนกรีตครั้งนี้ มีระยะทางที่ต้องปรับรวมประมาณ 60 ก.ม. ประกอบด้วยเส้นทาง 3 ช่วงคือ 1. เส้นทางระหว่าง บางซื่อ-ดอนเมือง 2. บริเวณสถานีบางซื่อ, อยุธยา, สระบุรี และปากช่อง และ 3. ทางช่วงที่เป็นอุโมงค์ทั้งหมดตลอดเส้นทาง คาดว่าจะทำให้วงเงินก่อสร้างเพิ่มขึ้นราว 3,000 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนวัสดุคอนกรีตแพงกว่าหินโรยทาง ซึ่ง รฟท. จะต้องมีการโอนงบในส่วนนี้เข้าไปยังสัญญา 2.3 งานระบบซึ่งจีนรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้งบประมาณในสัญญานี้เพิ่มขึ้นเป็น 41,558 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน