ผวาอีก 5 ปี หนี้รถไฟแตะ 2 แสนล้าน “ประธานบอร์ด-ผู้ว่า” จี้พนักงานอัพเกรดการทำงาน ตั้งเป้าดันทางคู่เฟส 1 จำนวน 7 เส้นทางเสร็จปี’66 เปิดเดินรถสีแดงชานเมือง บางซื่อ-รังสิต 1 ม.ค. 64

ผวาอีก 5 ปี หนี้รถไฟแตะ 2 แสนล. – เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2562 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธานเปิดงาน “Change to the Future” ครั้งที่ 1/2562 ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอนาคตใหม่รถไฟไทย ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม A-B โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมีนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการรฟท. เป็นผู้บรรยายพิเศษ ให้ภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย พนักงานทุกฝ่าย/สำนักงาน ตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไปของการรถไฟฯ ทั่วประเทศเข้าร่วมมากกว่า 800 คน

นายกุลิศ กล่าวว่า รฟท. อยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ ตามแผนฟื้นฟูองค์กรเพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียน ในปี 2570 ตามวิสัยทัศน์ของแผนฟื้นฟูกิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะ 10 ปี พ.ศ. 2561-2570 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้องค์กร จึงอยากขอความร่วมมือให้พนักงานการรถไฟทุกคนทำงานร่วมกับบอร์ดอย่างจริงจัง

โดยร่วมกันผลักดันโครงการรถไฟทางคู่เฟส 1 จำนวน 7 เส้นทาง ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2566 ซึ่งประกอบด้วย คือ ลพบุรี-ปากนำโพ, ฉะเชิงเทรา-คลอง 19, มาบกระเบา-ชุมทางจิระ, ชุมทาง จิระ-ขอนแก่น, นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร รวมทั้งเร่งเปิดเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 ก.ม. ให้ได้ภายในวันที่ 1 ม.ค. 2564 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการแข่งขัน

นอกจากนี้ จะต้องเร่งพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ 3 แปลง เพื่อเพิ่มรายได้ คือ ย่านสถานีแม่น้ำ สถานีมักกะสัน และ ย่านกม.11 โดยในส่วนของสถานีแม่น้ำนั้น ขณะนี้ได้ประสานให้ไจก้าเข้ามาช่วยออกแบบการพัฒนาสถานี โดยจะใช้โมเดลต้นแบบของเมืองโยโกฮาม่า รวมทั้งเร่งปรับระบบรถไฟดีเซลเป็นไฟฟ้า เพื่อลดปัญหามลพิศษ รวมทั้งปรับระบบบริหารจัดการเป็นเป็นระบบไอทีที่ทันสมัยและพัฒนาบุคคลากรให้เพียงพอและสอดคล้องกับงาน

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทน ผู้ว่ารฟท. กล่าวว่าปัจจุบัน ณ ปี 2562 รฟท. ประสบมีภาวะขาดทุน 21,845 ล้านบาท เมื่อรวมกับหนี้เดิมแล้วทำให้วันนี้รถไฟมีหนี้สินสะสม 141,986 ล้านบาท หาก พนักงาน-ของ รฟท. ไม่ช่วยกันเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงวิธีการทำงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามแผนฟื้นฟูองค์กร ภายใน 5 ปี ต่อจากนี้ หรือในปี 2566 รฟท. จะมียอดหนี้สะสมพุ่งขึ้นไปแตะที่ 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของงบประมาณประเทศที่ 3 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน เนื่องจากคู่แข่งให้บริการที่ถูกและรวดเร็วกว่ารฟท. โดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์ รถทัวร์ และรถตู้ เป็นต้น ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นจะกระทบต่อรายได้และสวัสดิการของคน รฟท. แน่นอน และรัฐบาลก็อาจจะพิจารณาจะให้หน่วยงานอื่นเข้ามาทำงานแทนรฟท.

ดังนั้น รฟท. จะต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน เบื้องต้นจะเปลี่ยนการเดินรถเป็นระบบไฟฟ้าแทนดีเซล เพื่อให้เชื่อมต่อกับรถไฟสายสีแดงชานเมือง บางซื่อ-รังสิต โดยจะนำเสนอแผนการเปลี่ยนระบบเดินรถเป็นระบบไฟฟ้าให้บอร์ด รฟท. รับทราย ในการประชุมบอร์ด รฟท.วันที่ 8 ก.พ. นี้ รวมทั้งจะต้องมีการปรับเส้นทางการเดินรถให้เป็นระยะกลางแทนระยะไกล เช่น เดินรถเส้นทาง กทม.-โคราช, กทม.- ชุมพร เป็นต้น เนื่องจากระยะไกลไม่สามารถแข่งขันกับโลว์คอสต์ได้, ปรับวิธีการให้บริการ เช่นทำขบวนรถไฟด่วนพิเศษเพื่อดึงให้คนหันมาใช้บริการรถไฟ, ปรับช่วงเวลาเดินรถ, เส้นทางเดินรถ รวมไปถึงการปรับรูปแบบการให้การอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) ที่รัฐบาลให้แก่รฟท. โดยอาจจะขอให้ใช้รูปแบบ PSO บางเส้นทางที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ได้หารือเบื้องต้นกับรัฐบาลบ้างแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน