ชาวนาไม่สนขอสินเชื่อชะลอขายข้าว ชี้ราคาที่รัฐกำหนดใกล้เคียงกับตลาด รวมทั้งเงื่อนไขในการเข้าโครงการที่มีการคำนวณจากความชื้น ซึ่งถ้าข้าวชื้นมากกว่า 15% ก็จะถูกทอนราคาลงไปด้วย

ชาวนาไม่สนขอสินเชื่อชะลอขายข้าว – นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เปิดเผยความคืบหน้า โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/2562 ล่าสุด ว่า ยอด ณ 10 ก.พ. 2562 มีเกษตรกรเข้าโครงการ 1.71 แสนราย คิดเป็นปริมาณข้าวกว่า 9.74 แสนตัน คิดเป็นวงเงินกว่า 1.08 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังอยู่ระหว่างการรอเกษตรกรที่จะเข้ามาทำสัญญาในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจะปิดโครงการในสิ้นเดือนก.พ. 2562 นี้

ทั้งนี้ ประเมินว่ายอดการปล่อยสินเชื่อชะลอการขายในปีการผลิต 2561/2562 น่าจะใช้วงเงินน้อยกว่าปีการผลิต 2560/2561 ที่มีเกษตรกรเข้าโครงการ 2.2 แสนราย คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกกว่า 1.4 ล้านตัน คิดเป็นวงเงินที่ปล่อยสินเชื่อ 1.46 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปีการผลิต 2559/2560 ที่มีเกษตรกรเข้าโครงการ 2.62 แสนราย คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกกว่า 1.58 ล้านตัน คิดเป็นวงเงินที่ปล่อยสินเชื่อ 1.45 หมื่นล้านบาท

สาเหตุที่เกษตรกรเข้าโครงการน้อยลง เพราะเป็นเรื่องของผลผลิตที่อาจจะลดลงกว่าปีก่อน ประกอบกับราคาข้าวในปีนี้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งราคาที่รัฐกำหนดมีราคาใกล้เคียงกับราคาตลาด เมื่อเกษตรการคำนวณรวมกับค่ารับฝากและค่ารักษาคุณภาพข้าวแล้วอาจจะเห็นว่ามีราคาที่ไม่แตกต่าง จึงทำให้เกษตรกร ตัดสินใจขายข้าวโดยที่ไม่เข้าโครงการชะลอการขายแบบทุกปี รวมทั้งเงื่อนไขในการเข้าโครงการที่มีการคำนวณจากความชื้น ซึ่งถ้าข้าวชื้นมากกว่า 15% ก็จะถูกทอนราคาลงไปด้วย

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส. ได้เสนอขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขาย กำหนดเงื่อนไขวงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกที่ความชื้นไม่เกิน 15% สิ่งเจือปนไม่เกิน 2% จำแนกตามชนิดข้าวเปลือก ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิราคาสินเชื่อตันละ 1.18 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเหนียวราคาสินเชื่อตันละ 1.02 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้าราคาสินเชื่อตันละ 7,500 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานีราคาสินเชื่อตันละ 8,900บาท

นอกจากนี้ เกษตรกรจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว ตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายพร้อมสินเชื่อก่อนตันละ 1,000 บาท และจ่ายภายหลังนำเงินมาชำระหนี้อีกตันละ 500 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน