ครม. รับทราบแผนเพิ่มหนี้สาธารณะหลังรัฐบาลก่อหนี้เพิ่ม 2.3 หมื่นล้านดันระดับหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 43.3%

รัฐบาลก่อหนี้เพิ่ม 2.3 หมื่นล้าน – พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนปรับปรุงบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 ตามที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะเสนอ ภายใต้วงเงินปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 2.3 หมื่นล้านบาท ทำให้วงเงินหนี้สาธารณะประจำปี 2562 ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.82 ล้านล้านบาท เป็นวงเงินประมาณ 1.85 ล้านล้านบาท โดยการปรับปรุงหนี้สาธารณะใหม่นี้ เนื่องจากรัฐบาลได้ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม จากโครงการเงินกู้รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงินลงทุนจำนวน 3.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ หลังการปรับปรุงหนี้สาธารณะในครั้งนี้ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2562 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดิมอยู่ในระดับ 42.7% มาเป็น 43.32% ซึ่งอยู่ในระดับที่คณะกรรมการนโยบายการเงินและการคลังของรัฐกำหนดที่ไว้ที่ระดับไม่เกิน 60%

สำหรับโครงการที่กระทรวงการคลังได้ขอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติการลงทุนในโครงการพัฒนาและโครงการที่แต่เดิมไม่ได้บรรจุไว้มีจำนวน 6 โครงการ วงเงิน ทั้งสิ้น 2.8 หมื่นล้านบาท อาทิ โครงการเงินกู้เพื่อรองรับการดำเนินงานของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยตามนโยบายรัฐบาล จำนวน 2.1 หมื่นล้านบาท

โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 2,700 ล้านบาท, โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) จำนวน 1,891.45 ล้านบาท

ส่วนการโอนทรัพย์สินและหนี้สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยให้กรุงเทพมหานคร ที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในวงเงิน 1.91 หมื่นล้านบาท ในครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอขออนุมัติให้กระทรวงการคลังให้กู้ต่อแก่กรุงเทพมหานคร โดยโครงสร้างพื้นฐานของโครงการที่กรุงเทพมหานคร ได้รับโอนมา ในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินกู้ต่อเดิมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่กระทรวงการคลังกู้มาแล้ว จึงได้บรรจุรายการดังกล่าวนี้ไว้ในการปรับปรุงแผนฯ ในครั้งนี้ โดยไม่มีการเพิ่มวงเงินกู้ รวมทั้งขออนุมัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาเงินยืม จำนวนไม่เกิน 4,122.28 ล้านบาท และเรียกเก็บเงินยืมที่ได้ไม่มีดอกเบี้ยกับกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม การบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจปรับลดลง เนื่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ชำระคืนหนี้เงินกู้จากเงินงบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท แล้วประกอบกับยังไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากในปีงบประมาณ 2561 ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาทไปแล้ว ซึ่งสัญญาจะครบกำหนดในปีงบประมาณ 2563

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน