นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2560 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการบินพลเรือน พ.ศ. … ซึ่งเป็นการปรับปรุง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ (ปว.) ฉบับที่ 58 พ.ศ. 2515 ในส่วนกิจการการเดินอากาศและกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการบินพลเรือนขึ้นใหม่ทั้งฉบับ

โดยกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้ครอบคลุมถึงกิจการการบินพลเรือนทุกด้านที่รัฐต้องกำกับดูแลตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ กำหนดฐานอำนาจของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือน รวมถึงกำหนดอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และผู้ตรวจสอบด้านการบิน ในการกำกับดูแลกิจการการบินพลเรือน และกำหนดบทบัญญัติให้เป็นไปตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ใช้ในการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (USOAP) และโครงการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยสากล (USAP)

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายที่วางรากฐานให้อุตสาหกรรมการบิน ชิ้นส่วนอากาศยานที่วางเป้าหมายให้มีการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยพ.ร.บ.การบินพลเรือน พ.ศ. ประกอบด้วย 6 หมวด รวม 338 มาตรา จะเป็นกฎหมายกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนสมัยใหม่ที่มีความครบถ้วน ยืดหยุ่นสูงสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามมาตรฐานสากลุและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีโดยใช้แนวทางตามกฎหมายที่เป็นไปตามมาตรฐานของ ICAO และองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐ(FAA) โดยจะเป็นกฎหมายหมายแม่และหลังจากนี้จะมีกฎหมายลูกต่างๆ ตามออกมา

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการการบินพลเรือน โดยมี รมว.คมนาคม เป็นประธาน ปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บัญชาการกองทัพอากาศเป็นรองประธาน คณะกรรมการ 7 คนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบินแต่งตั้งโดย ครม. และมีผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเป็นเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของการบินพลเรือนและติดตามการปฏิบัติงานของสำนักงานการบินพลเรือนฯ ให้ทันต่อเหตุการณ์ ถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมายและอนุสัญญา

โดยคณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจการกำกับดูแลการบินพลเรือนด้านเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ประกอบด้วย การเข้าสู่ตลาด การอนุญาตให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศยานต่างประเทศประกอบกิจการมายังหรือออกจากประเทศไทย การติดตามตรวจสอบคุณสมบัติ การบริหารจัดการ สถานะทางการเงินของผุ้ได้รับใบอนุญาต กำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดในการประกอบกิจการ กำกับดูแล ควบคุมค่าโดยสาร คุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร และกำกับพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรม ทางการค้า

“ในกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติไว้ แต่จะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการการบินพลเรือน ที่จะมีการพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ต่างชาติที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเข้ามาในไทย เช่น กลุ่มแอร์บัสที่สนใจอยู่ ก็จะเข้ามาได้ง่ายขึ้น รวมถึงเดิมที่จำกัดว่าไม่ให้กองทุนถือหุ้นการบินคณะกรรมการสามารถกำหนดให้ถือได้”นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมายยังกำหนดการกำกับดูแลการบินพลเรือนในด้านต่างๆ เช่น ขอบเขตการกำกับดูแลการบินพลเรือน การใช้อำนาจของสำนักงานการบินพลเรือน การกำกับด้านความปลอดภัย ซึ่งจะกำหนดเกี่ยวกับแผนความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ การกำกับดูแลห้วงอวกาศและกฎหมายทางอากาศ กำกับดูแลการบริการการเดินอากาศ กำกับการขนส่งวัตถุอันตราย กำกับดูแลความปลอดภัย การอำนวยความสะดวก

ทั้งนี้ ขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการส่งกฎหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการตรวจแก้และส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่ากฎหมายจะออกมาไม่เกินเดือนก.ย. นี้ แต่ประมาณเดือนมิ.ย. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม จะแจ้งไปยัง ICAO ให้เข้ามาตรวจสอบการดำเนินการของไทย โดยการตรวจสอบจะดำเนินการไม่เกินภายในกลางปีซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการตอบโจทย์ 33 ข้อ ของ ICAO ที่ยังติดธงแดงการบินของไทย

ด้านนายอาคม กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะใช้แทน พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และอ้างอิงแนวทางปฏิบัติขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) จึงถือเป็นการปฏิรูปกฎหมายการบินของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการปลดธงแดงโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัย (Universal Oversight Audit Program : USOAP) ของ ICAO

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การบินพลเรือน จะเน้นกำหนดกรอบหลักและมอบหมายอำนาจให้ผู้เกี่ยวข้องตัดสินใจ เพื่อให้การกำกับดูแลอุตสาหกรรมการบินมีประสิทธิภาพและสามารถปรับเปลี่ยนตามมาตรฐานสากลอย่างรวดเร็ว

ร่างกฎหมายได้มอบอำนาจการออกใบอนุญาตประกอบกิจการเดินอากาศ (AOL) ให้คณะกรรมการการบินพลเรือน (บอร์ด กบร.) ที่มีรมว.คมนาคมเป็นประธานและประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วน จากเดิมที่ให้ รมว.คมนาคม อนุมัติและยกเลิก AOL ผู้เดียวเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน