คอลัมน์ รายงานพิเศษ

นอกจากงาน “วันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2560” จะตอกย้ำความสำเร็จของจังหวัดบึงกาฬ ในฐานะผู้ผลิตยางพาราที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้น และส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มความภาคภูมิ

วันนี้บึงกาฬไม่ได้มีแค่สวนยาง แต่ยังมีโรงงานผลิตหมอนยางพาราต้นแบบที่ได้มาตรฐานแห่งแรกของภาคอีสาน ในชื่อ ?บึงกาฬรับเบอร์กรุ๊ป? ตั้งอยู่บนพื้นที่ 37 ไร่ ต.ตาเดี่ยว อ.เซกา จ.บึงกาฬ และได้รับเกียรติจากดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโรงงาน ไปเมื่อ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา

โรงงานบึงกาฬรับเบอร์กรุ๊ป ลงทุนโดยชุมนุมสหกรณ์ยางบึงกาฬ มีกำลังการผลิตหมอนยางพารา 300 ใบต่อวัน จากความสำเร็จที่เป็นรูปร่างนี้ทำให้รัฐบาลเห็นถึงศักยภาพ อนุมัติงบประมาณกลุ่มจังหวัดจำนวน 193 ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างโรงงานอีก 5 แห่ง

ได้แก่ โรงงานหมอน โรงงานผลิตที่นอน โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน และโรงงานผลิตยางลูกขุนโดยเฉพาะโรงงานหมอนจะพัฒนาให้มีความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ใบต่อวัน

นายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีชส่วน่วยผลักดันให้โรงงานเเห่งนี้เกิดขึ้น ทั้ง นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ นายจาง เยี่ยน ประธานบริษัท รับเบอร์วัลเลย์ กรุ๊ป จำกัด ตลอดจนรัฐบาลที่ให้งบประมาณสนับสนุน และธนาคารออมสินที่ให้เงินกู้กับชุมนุมสหกรณ์ กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ

จากความคืบหน้าดังกล่าวทำให้มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง กับบริษัท รอยัล ไทยเบสท์ ลาเท็กซ์ จำกัด บริษัท ไทย ปาร์ค เสน็ค ฟาร์ม จำกัด บริษัท โพลี ลาเท็กซ์ จำกัด บริษัท เหว่ย ซิง อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง จำกัด ที่มีความต้องการหมอนยางรายละ 20,000-50,000 ใบต่อเดือน ขณะที่โรงงานมีกำลังการผลิต 150,000 ใบต่อเดือน หากชุมนุมสหกรณ์ยางบึงกาฬขายราคาเฉลี่ยใบละ 300 บาท จะทำให้สหกรณ์มีรายได้เดือนละ 45 ล้านบาท

ภายในงานยังลงนามความร่วมมือเรื่องเครื่องกรีดยางอัตโนมัติระหว่างรับเบอร์วัลเลย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนคร เหนือ จังหวัดบึงกาฬ และสภาวัฒนธรรมไทยจีนฯ

“การลงนามเรื่องเครื่องกรีดยางอัตโนมัติถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของการก้าวเข้าสู่ความเป็น 4.0 ระหว่างประเทศไทยและจีน การยกระดับอุตสาห กรรมไทยจากผู้ปลูกสู่ผู้เเปรรูปยางต้องอาศัยนวัตกรรม ซึ่งรับเบอร์วัลเลย์ขอสัญญาว่าจะนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ใหม่ล่าสุดจากประเทศจีนเข้ามาที่จังหวัดบึงกาฬ เพื่อนำผลิตภัณฑ์จากบึงกาฬส่งออกไปยังตลาดโลก” นายจาง เยี่ยน ประธานบริษัท รับเบอร์วัลเลย์ กรุ๊ป จำกัด กล่าว

อีกความก้าวหน้าที่จะขาดไม่ได้ คือ การลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและอินเดียเป็นครั้งแรก โดยดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย นางกุสุมา หงษ์ชูตา ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ และ นายดีปัก จาดธา ประธานบริษัท จอธะรี รับเบอร์ แอนด์ เคมีคอล เอกชนทุนจำกัด ร่วมลงนามนำเข้ายางพาราจากบึงกาฬ

จากแนวโน้มและความร่วมมือต่างๆ ยิ่งสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมยางพารา บึงกาฬ มากขึ้น และมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน