ม.44อุ้ม‘ทีวีดิจิตอล-ค่ายมือถือ’ เปิดทางหนีตาย-คืนใบอนุญาต : รายงานพิเศษ

นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ทีวีดิจิตอลของประเทศไทย ก้าวผ่านระบบอนาล็อก หลายช่องสายป่านยาวพอ ก็ยังคงยืนหยัด แต่บางช่องย่ำแย่สาหัสจนต้องปิดตัว และบางช่องกัดฟันแบกสถานะการเงินที่ง่อนแง่น

ท่ามกลางสภาวะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย เปลี่ยนโฉมจากระบบสัมปทานเป็นใบอนุญาต ด้วยการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งที่ผ่านมาราคาคลื่นอยู่ในอัตราที่สูง เป็นภาระอันใหญ่หลวงของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม

กระทั่งเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2560 ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม นำโดยบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ TRUE(ทรู) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ AWN ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ AIS (เอไอเอส)

รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ ในงวดที่ 4 งวดสุดท้าย ที่ต้องจ่าย ในปี 2562 รายละประมาณ 60,000 ล้านบาท ออกไปเป็น 7 งวด และขอยกเว้นไม่ชำระดอกเบี้ย

วันที่ 21 พ.ย. 2561 บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ DTAC(ดีแทค) มีหนังสือถึงหัวหน้า คสช. เพื่อขอแบ่งการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ ออกไปเป็น 15 งวด

ด้านผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลก็ไม่ต่างกัน ยื่นหนังสือถึงหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 ขอให้นำคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่กันไว้สำหรับทีวีดิจิตอล มาจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น

ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้กำกับดูแลเองต้องการคลื่นในย่าน 694-790 เมกะเฮิร์ตซ์ มาใช้งานก่อนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป ในกิจการโทรคมนาคม เพื่อนำมาประมูลคลื่นสำหรับ 5 จี จากปัจจุบันทีวีดิจิตอลได้รับสิทธิ์ให้ใช้ความถี่ 510-790 เมกะเฮิร์ตซ์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2557 ถึงวันที่ 24 เม.ย. 2572

จึงเป็นที่มาให้เกิดการยื่นหมูยื่นแมวกันแบบสมประโยชน์ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2562 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เชิญผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล (มักซ์) และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เข้ารับฟังการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือและเงื่อนไข ต่างๆ

กระทั่งหัวหน้า คสช. ประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มีข้อสรุปออกมา เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 อุ้มผู้ประกอบการ ไม่ต้องชำระเงินค่าประมูล 2 งวดสุดท้ายในงวดที่ 5 และงวดที่ 6 รวมเป็นเงิน 13,622.40 ล้านบาท

ทั้งยังไม่ต้องจ่ายค่าเช่าใช้โครงข่าย โทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล (มักซ์) เต็มจำนวน ตลอดอายุใบอนุญาต ที่เหลืออยู่ 9 ปี 6 เดือน คิดเป็นเงิน 18,775 ล้านบาท

“แนวคิดเบื้องต้นสูตรคำนวณการจ่ายเงินชดเชย คืนให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล จะนำจำนวนเงินประมูล ที่ชำระไปแล้วคูณระยะเวลาประกอบกิจการที่ผ่านมาเป็นปี หารด้วยระยะเวลาของใบอนุญาต 15 ปี แล้วนำมาลบกับจำนวนเงินที่จ่ายไปแล้ว ที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถคืนใบอนุญาตได้”

นายฐากร กล่าว

กสทช. เปิดให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลที่ประสงค์จะคืนใบอนุญาต ทำหนังสือแสดงความจำนงขอรับสิทธิ์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่คำสั่งมีผลบังคับใช้ หรือภายในวันที่ 10 พ.ค.2562

คาดจะได้ข้อสรุปเรื่องหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนอีกครั้ง ในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้ แต่หากหลักเกณฑ์การช่วยเหลือไม่เป็นที่พอใจ ผู้ประกอบการสามารถขอถอนความประสงค์ที่จะคืนใบอนุญาตได้

ส่วนผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล 17 ช่อง ที่ยังค้างชำระค่าประมูลงวดที่ 4 ที่เหลือ 50% อัตราดอกเบี้ย 7.5% คิดเป็นเงิน 3,215 ล้านบาท มีกำหนดให้ชำระภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่คำสั่งมีผลบังคับใช้หรือภายในวันที่ 8 ส.ค. 2562 เพื่อนำเงินรายได้ส่วนนี้จ่ายคืนให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล 3 ราย ที่ชำระค่าประมูลงวดที่ 5 แล้ว

ได้แก่ ช่อง 7 เป็นเงิน 372 ล้านบาท ช่องเวิร์คพอยท์เป็นเงิน 395 ล้านบาท และช่องสปริงนิวส์เป็นเงิน 219 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 986.60 ล้านบาท

โดยจะพิจารณาจ่ายตามความจำเป็นของแต่ละช่อง ที่ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน ที่มีกำไรน้อยหรือขาดทุนจะได้ก่อน จากนั้นจะเหลือเงิน 2,228.60 ล้านบาท นำส่งเข้าเป็นรายได้รัฐต่อไป

สำหรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม หรือค่ายมือถือ ก็ได้รับสิทธิ์ขยายระยะเวลาชำระค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ออกไป 10 ปี แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการจะต้องเข้าประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ ในเดือนมิ.ย.2562 เป็นเวลา 10 ปีเช่นกัน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค 5G

หากผู้ประกอบกิจการมือถือ ไม่รับเงื่อนไขการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ จะไม่สามารถรับสิทธิ์ ขยายระยะเวลาชำระค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ และมีแนวทางนำคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่เหลือมาเปิดประมูลในแบบเดิม

“การออกใบอนุญาตคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ครั้งนี้ ไม่เหมือนการประมูลที่ผ่านมา เพราะเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ประเมินมูลค่าเบื้องต้นไม่น่าจะต่ำกว่า 25,000-27,000 ล้านบาทต่อใบอนุญาต จำนวน 15 เมกะเฮิร์ตซ์ รวม 3 ค่าย คิดเป็นมูลค่า 75,000 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม”

นายฐากรกล่าว และว่ากำหนดจ่ายค่าคลื่นวันที่ 1 ต.ค. 2563 ซึ่ง กสทช.มีแนวทางนำเงินจากการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์นี้ไปชำระค่าประมูลงวดที่ 5 และ 6 รวมถึงค่าเช่าผู้ให้บริการโครงข่ายมักซ์เป็นเงิน 32,377 ล้านบาทด้วย

ด้าน นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร รองกรรมการ ผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานปฏิบัติการ เอไอเอส กล่าวว่าเงื่อนไขของความจำเป็นที่บริษัทต้องได้รับจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ครั้งนี้ แตกต่างจากการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซที่เอไอเอสจำเป็นต้องได้มา เนื่องจากคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ นำมาทำ 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันอาจไม่ได้ตื่นตัวเต็มที่ บริการที่จะได้ใช้คาดว่าจะมาภายใน 2 ปี ไม่ใช่ปี 2563 ดังนั้นการรีบจ่ายค่าประมูลก่อนเท่ากับเป็นการจ่ายเปล่า

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการ องค์กรและพัฒนาธุรกิจ ดีแทค กล่าวว่าดีแทคจะหารือกับ กสทช. อีกครั้งเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ให้มีความชัดเจน ทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ก่อนตัดสินใจดำเนินการใดๆ ต่อไป เพราะราคาคลื่นความถี่ของประเทศไทยสูงเกินไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ดีแทคยังไม่ทราบจะกำหนดการประชุมบอร์ดครั้งถัดไปเมื่อไหร่ หลังจากเพิ่งได้มีการประชุมบอร์ดไปเมื่อเร็วๆ นี้ แต่เรื่องการส่งหนังสือแสดงความจำนงขอรับสิทธิ์ขยายเวลาชำระค่าประมูลและเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์สามารถยื่นไปก่อนได้ หากเงื่อนไขไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ดีแทคก็สามารถยกเลิกหนังสือแจ้งความจำนงได้

ส่วนนายอติรุฒน์ โตทวีแสนสุข ตัวแทนจากทรู ในฐานะผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล 2 ช่อง และ ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือนามทรูมูฟ เอช ระบุว่าขณะนี้อยากให้ กสทช.เร่งออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการชดเชยต่างๆ ออกมาให้เร็วที่สุด เพราะกรอบเวลาที่ กสทช.กำหนดให้ผู้ประกอบการตัดสินใจว่าจะคืนใบอนุญาตหรือไม่น้อยเกินไป ทำให้ภาคเอกชนรู้สึกกดดันให้ตัดสินใจ ในเวลาจำกัด

ด้าน นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานชมรม ผู้ประกอบการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ยอมรับว่าเบื้องต้นประเมินภาพรวมในธุรกิจทีวีดิจิตอลอาจมี ผู้ประกอบการ 7-8 ช่อง คืนใบอนุญาตประกอบกิจการ

โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องจับตามอง อาทิ ผู้ประกอบการ ที่ถือใบอนุญาตมากเกินไป ประกอบกับเป็นบริษัท ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงต้องพิจารณาตัดส่วนธุรกิจที่ไม่ทำกำไรหรือไม่สร้างมูลค่าเพิ่มออก

“ต้องจับตาช่องที่มีโอกาสจะคืนใบอนุญาต คือ ช่องรายการสำหรับเด็กและเยาวชน เพราะไม่มีรายได้ ช่องข่าวหรือกลุ่มสื่อหนังสือพิมพ์เก่าที่เข้ามาถือใบอนุญาต 2-3 ใบ และช่องทีวีทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (เอสดี) บางช่อง รวมประมาณ 7-8 ช่อง” นายเขมทัตต์ กล่าว

สุดท้ายแล้ว กสทช. จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพื่อประโยชน์อันสูงสุดแก่ผู้บริโภคและประเทศชาติ ไม่เอื้อให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง เป็นโจทย์ที่สังคมยังคงเฝ้าจับตามอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน