หนี้ครัวเรือนพุ่งติดที่ 3 เอเชียแปซิฟิก คนไทยใช้มือเติบทั้งบัตรเครดิตและรถยนต์ อึ้ง!ลูกหนี้หน้าใหม่อายุน้อยกว่า 25 ปี

หนี้ครัวเรือนพุ่งติดที่ 3 เอเชีย – นางโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในช่วงสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 78.6% ต่อจีดีพี สูงกว่าในปี 2560 และขยายตัวมากกว่าเศรษฐกิจ โดยจากงานวิจัยซึ่งติดตามผู้กู้รายคนและสินเชื่อรายสัญญาเวลา 9 ปี พบว่าผู้กู้รายเดิมมีการกู้หลายบัญชี มีคุณภาพของสินเชื่อด้อยลง อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในระบบได้ ขณะที่ผู้กู้รายใหม่คิดเป็นเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้ประเภทบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อรถยนต์ เป็นหลัก ซึ่งหนี้ครัวเรือนปี 2561 ขยายตัวเพิ่มกว่า 6% จาก 4 ปีก่อนที่ระดับทรงตัว ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยอยู่อันดับ 3 ของเอเชียแปซิฟิก รองจากเกาหลีใต้และออสเตรเลีย

ขณะเดียวกันยังพบว่ากว่าครึ่งของผู้กู้ใหม่ในแต่ละปีมีอายุน้อย และมีสัดส่วนผู้กู้อายุน้อยกว่า 25 ปีสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผู้กู้สูงอายุในกลุ่มผู้กู้เดิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีหนี้เร็วขึ้น และนานขึ้น และมีโอกาสเป็นหนี้เสียสูงขึ้น แต่สัดส่วนของผู้กู้ใหม่ในแต่ละปีกลับมีการกระจายเชิงพื้นที่ ทำให้เห็นว่าการขยายตัวของสินเชื่อทั่วถึงขึ้น นอกจากนี้ ผู้กู้ใหม่มีสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้านและรถยนต์เป็นครั้งแรกมีอายุน้อยลง โดยสัดส่วนผู้กู้บ้านครั้งแรกอายุน้อยกว่า 35 ปีได้เพิ่มขึ้นจาก 40% ในปี 2552 มาเป็น 60% ในปี 2561 และสัดส่วนผู้กู้รถยนต์ครั้งแรกมีอายุต่ำกว่า 25 ปีสูงขึ้นจาก 5% ในปี 2552 มาอยู่ที่ 15% ในปี 2561

“การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับต้องดูในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มอายุน้อย กลุ่มผู้กู้หน้าเดิมแต่มีหลายบัญชีว่าจะต้องทำอย่างไรไม่ให้กลุ่มนี้เกิดความเสี่ยง และครัวเรือนต้องปรับเปลี่ยนการใช้จ่าย ซึ่งจะทำอย่างไรให้รายได้โตเร็วกว่าหนี้ โดยอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่หนี้จะโตเร็วกว่าจีดีพี ส่วนนโยบายก็สกัดได้ระดับหนึ่งในผู้กู้หน้าใหม่ แต่ก็ต้องอยู่ที่วินัยทางการเงิน และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปยังเอื้อให้คนเป็นหนี้ได้ง่ายขึ้น”

นายสรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจซบเซา ภัยน้ำท่วมใหญ่ ที่ทำให้ภาคครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินในระบบที่มากขึ้น หรือวินัยทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปของครัวเรือน สถานการณ์นี้ส่งผลให้ครัวเรือนไทยสะสมความเปราะบางทางการเงินและอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ภาครัฐพยายามออกมาตรการเพื่อดูแลหนี้ครัวเรือน เช่น การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน มาตรการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธปท. โครงการคลินิกแก้หนี้ และโครงการเดินหน้าขจัดหนี้นอกระบบเป็นศูนย์นั้น แต่มาตรการดังกล่าวจะเกิดผลไม่ได้ หากครัวเรือนยังขาดวินัยทางการเงิน โดยการแก้หนี้ภาคครัวเรือนมี 8 แนวทาง ได้แก่ 1. เข้าใจพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง 2. ตั้งเป้าหมายลดค่าใช้จ่าย โดยแบ่งเป้าหมายเป็นแบบขั้นบันไดจากง่ายไปหายาก 3. ออมเงินให้เป็นกิจวัตร 4. ออมก่อนกู้เพื่อลดภาระหนี้ที่ต้องจ่ายในอนาคต

ขณะที่ 5. พยายามไม่ให้สัดส่วนภาระหนี้จ่ายต่อเดือนเทียบกับรายได้ต่อเดือนสูงกว่า 40% 6. อย่าเสียดายโอกาส หรือหลงกลในกับดักทางการตลาดของผู้ขาย เช่น การผ่อนแบบ 0% หรือการลดแลกแจกแถม 7. การดูแลสุขภาพเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ 8. การทำประกันสุขภาพ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในยามที่เจ็บป่วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน