‘กฤษฎา’ เข้มโควตานมปี’62 เริ่มส่งทันที 16 พ.ค. นี้ ชี้นมโรงเรียนปีนี้ใช้งบประมาณมากถึง 1.4 หมื่นล้าน ขู่แบนไม่ให้เข้าร่วมโครงการ

‘กฤษฎา’ เข้มโควตานมปี’62 – นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปีการศึกษา 2562 ว่า ตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เปลี่ยนแนวทางการจัดสรรโควตานมโรงเรียนใหม่ แทนแนวทางเดิมที่ใช้ตั้งแต่ปี 2552 ที่มีปัญหาด้านการดำเนินงาน ส่งผลให้เกิดการร้องเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งจากผู้ประกอบการนม และเด็กนักเรียนจำนวนมาก ซึ่งนมโรงเรียนในปีนี้มีงบประมาณมากถึง 1.4 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ แนวทางการจัดสรรนมโรงเรียนใหม่ ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2562 เป็นต้นไป และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานดูแลจัดสรร แทนองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) นมที่นำมาจัดสรรต้องได้คุณภาพ สามารถจัดส่งให้เด็กนัดเรียนได้ตรงตามที่กำหนด และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องได้รับประโยชน์

การจัดสรรโควตานมจะมีคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ที่มี รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน ซึ่งเห็นชอบให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเป็นผู้ประกวดราคารับซื้อนมแบบเจาะจง เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ก่อน และเพื่อป้องกันปัญหาส่งนมข้ามเขต ที่จะเป็นผลให้คุณภาพนมลดลง เสี่ยงต่อการเน่าเสียและต้นทุนราคาที่สูงขึ้นด้วย

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการนมขอร่วมโครงการนี้รวม 75 รายทั่วประเทศ ทุกรายต้องมีสัญญารับซื้อนมจากเกษตรกรมาขอรับโควตา เปลี่ยนจากเดิมที่จะใช้วิธีการลงนามบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู เมื่อทำสัญญาขายนมโรงเรียนแล้วต้องแนบหนังสือประกันภัยเพื่อรับรองกรณีเกิดปัญหานมบูด นมเน่าเสีย นมไม่มีคุณภาพ คู่สัญญาจะสามารถเรียกร้องได้ หากเกิดปัญหาขึ้น เช่น ส่งนมไม่ทันตามระยะเวลา นมไม่มีคุณภาพ แอบจำหน่ายนมโรงเรียนตามท้องตลาด เป็นต้น ผู้ประกอบการนมเหล่านี้จะได้รับการลงโทษที่รุนแรงขึ้น

นายอำพันธ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เดิมการลงโทษจะมีเพียงการตัดสิทธิ์ ลดสิทธิ์การส่งนม แต่กฎเกณฑ์ใหม่ ไม่มีการลดสิทธิ์ลงแล้ว แต่จะใช้วิธีการตัดสิทธิ์ที่เหลือทันที รวมทั้งมีโทษปรับตามอัตราก้าวหน้าและตัดสิทธ์โควตานมในเทอมถัดไป กรณีโทษหนักมากจะถูกแบนไม่ให้เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนด้วย แต่ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้

สำหรับการแบ่งโควตานมจะเป็นไปตามการแบ่ง 5 เขตของกรมปศุสัตว์ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม รวม 2 หมื่นราย 5.4 แสนตัว ปริมาณน้ำนมดิบ 1,078.09 ตันต่อวัน ประกอบด้วย เขต 1 ภาคกลาง มีเด็กนักเรียน 1.3 ล้านคน ต้องใช้นม 150 ตันต่อวัน เขต 2 ภาคอีสานตอนล่างและภาคตะวันออก มีเด็กนักเรียน 2 ล้านคน ต้องการนม 290 ตันต่อวัน เขต 3 ภาคอีสานบน มีเด็กนักเรียน 1.2 ล้านคนต้องการนม 179 ตันต่อวัน เขต 4 ภาคเหนือ มีเด็กนักเรียน 1.24 ล้านคนต้องการนม 181 ล้านตันต่อวัน และเขต 5 ภาคใต้ มีเด็กนักเรียน 1.9 ล้านคน ต้องการนม 275 ตันต่อวัน ซึ่งภาคใต้จะมีปัญหาปริมาณนมดิบในพื้นที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทางคณะกรรมการฯ จึงเห็นชอบให้ผู้ประกอบการสามารถส่งนมข้ามเขตได้ แต่ไกลสุดได้ไม่เกิน จ.ราชบุรี เท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน