พาณิชย์จ่อฟัน รพ.เอกชน คิดค่ายา-บริการแพงเวอร์ จี้แจ้งราคา-ค่าบริการผ่านเว็บ

รพ.เอกชน / เมื่อวันที่ 10 พ.ค. น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช. พาณิชย์ ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบผลการศึกษาเกี่ยวกับราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์

รวมทั้งพิจารณาข้อเสนอมาตรการดูแลราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ของคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการยาและเวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล ซึ่งประกอบด้วยหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ราคาโปร่งใส-เป็นธรรม (Fair Price)

โดยกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อ-ขายให้แก่กรมการค้าภายใน เพื่อเผยแพร่ราคาจำหน่ายของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งผ่านเว็บไซต์

และกรณีที่โรงพยาบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ต้องแจ้งให้กรมการค้าภายในทราบก่อนปรับราคาไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยครอบคลุมยา 3,090 รายการ จากยาทั้งหมดที่มีกว่า 30,000 รายการ โดยเน้นยาที่มีการใช้มากและมีความจำเป็น

ผู้บริโภคต้องมีทางเลือก (Consumers’ Choices) : ให้โรงพยาบาลเอกชนจัดแสดง QR Code ไว้อย่างเปิดเผยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยสะดวกและกรณีผู้ป่วยนอกที่ต้องการใบสั่งยาเพื่อซื้อยาจากภายนอกนั้น ใบสั่งยาจะต้องมีลายเซ็นต์แพทย์ มีชื่อยาตามตลาดและทางวิทยาศาสตร์และมีราคาแจ้งด้วย

รวมทั้ง การรักษาที่สมเหตุสมผล (Reasonable Treatment) ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อทำหน้าที่พิจารณาความเหมาะสมในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วย กรณีที่ผู้ป่วยเห็นว่ามีการจ่ายยาหรือเวชภัณฑ์ หรือให้การรักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็น ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่ประสานและแจ้งความเห็นไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ปฎิบัติตามกรณีที่ไม่แจ้งราคา จำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีโรงพยาบาลเอกชนไม่ออกใบสั่งยาให้ผู้ป่วยไปซื้อยาข้างนอก มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท โดยขั้นตอนหลังจากนี้ กกร.จะออกประกาศเพื่อลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้คาดว่าจะมีผลสัปดาห์หน้า

โดยเร็วๆนี้กรมการค้าภายในเตรียมเชิญตัวแทนโรงพยาบาล 60-70 แห่ง จาก 350 โรงพยาบาล มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว ส่วนเรื่องเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์จะมีการพิจารณาในลำดับต่อไป

ส่วนกรณีที่สมาคมโรงพยาลเอกชน จำนวน 42 ราย ได้ฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ก็ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย และการกำหนดมาตรการดูแลราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ในวันนี้ กกร. ก็ปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนด ซึ่งมาตรการที่เห็นชอบไปแล้วยังไม่มีการเข้าไปควบคุมกำหนดราคาแต่อย่างใด แต่เป็นการทำให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน