ธ.ก.ส.ทุ่ม 1.5 หมื่นล้าน ปล่อยกู้ซื้อโดรนทำเกษตร – ตั้งเป้าปล่อยกู้ใหม่ปีนี้รวม 7.7 แสนล้าน โชว์กำไรปี 2561 ที่ 9.8 พันล้านบาท

ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ซื้อโดรนทำเกษตร – นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในปี 2562 ธนาคารได้เตรียมวงเงินสินเชื่อสำหรับการซื้ออากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และเครื่องจักรอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกร 15,000 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีเกษตรกรซื้อโดรนสำหรับใช้ทำการเกษตรไม่ต่ำกว่า 100 ลำๆ ละ 5 แสนบาท เพื่อมาใช้ทดแทนแรงงานในการพ่นยาฆ่าแมลง หว่านเมล็ดพันธุ์ ลดต้นทุนการผลิต

“การปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อโดรน จะให้กับกลุ่มสหกรณ์และเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพ โดยคิดดอกเบี้ย 3% สำหรับกลุ่มสหกรณ์และ 4% สำหรับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งธนาคารจะเน้นให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน เพื่อใช้โดรนร่วมกัน เพราะต้นทุนค่าเครื่องค่อนข้างสูง โดยปีก่อนมีกลุ่มสหกรณ์ขอสินเชื่อเพื่อซื้อโดรนไปแล้ว ทั้งหมด 60 ลำ วงเงิน 30 ล้านบาท โดยแต่ละราย ยืนยันว่าต้นทุนการผลิตลงจริง เพราะการใช้โดรนสามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยและลดเวลาในการหว่านเมล็ดพืชได้ แม้ค่าจ้างใช้แรงงานคนตกไร่ 500 บาท แต่โดรนใช้ 600 บาท แต่โดยรวมแล้วคุ้มกว่า”

นายอภิรมย์กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในรอบปีบัญชี 2562 (1 เม.ย. 2562-31 มี.ค. 2563) ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ 7.7 แสนล้านบาท คิดเป็นยอดคงค้างที่เพิ่มขึ้น 9.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เป็นเงินหมุนเวียนในการนำไปช่วยเหลือเกษตรกร ใน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มรายย่อยซึ่งมีปัญหาด้านเงินทุน เช่น ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 13,000 ล้านบาท กลุ่มลูกค้าทั่วไป รวมถึงทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่วงเงิน 44,000 ล้านบาท และกลุ่มผู้ประกอบการด้านการเกษตร กลุ่มสหกรณ์การเกษตรและวิสาหกิจชุมชนที่เป็นหัวขบวนในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต วงเงิน 38,000 ล้านบาท ส่วนด้านเงินฝากมีเป้าหมายเพิ่มขึ้น 60,000 ล้านบาท จากการออกสลากออมทรัพย์ เงินฝากแบบมีกรมธรรม์และสวัสดิการ กองทุนทวีสุข เป็นต้น และคาดมีกำไร 8,719 ล้านบาทลดลงจากปีก่อน 1 พันล้านบาท เนื่องจากมีมาตรการพักชำระเงินต้นช่วยเหลือเกษตรกร 2.9 ล้านราย

ส่วนแผนการทำงานที่เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ จะมีแผนการช่วยเหลือเกษตรกรภายหลังจากมีมาตรการชำระหนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรายได้ให้สูงขึ้น โดยจะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพเพาะปลูกในสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้ง ข้าว อ้อย มันสำปะหลังและข้าวโพด ซึ่งจะต้องมีมาตรการดูแลอย่างเป็นระบบ เพราะจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้ ผลผลิตที่ออกมามีประสิทธิภาพขณะที่เกษตรกรจะมีรายได้สูงขึ้น

“ปีบัญชี 2562 จะขับเคลื่อนภายใต้แผนการปฏิรูปภาคเกษตร ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นการปรับการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การใช้โดรนเพื่อการเกษตร การปลูกพืชโดยระบบน้ำหยด การผสมปุ๋ยใช้เอง เป็นต้น การเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับพื้นที่และความต้องการของตลาด เช่น เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น การพัฒนาสหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการ และการเชื่อมโยงด้านการตลาด รวมถึง ธ.ก.ส. ยังมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนภายใต้หลัก โกกรีน โดยมีเป้าหมายสนับสนุนชุมชน 400 ชุมชน พื้นที่กว่า 40,000 ไร่”

ส่วนผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชี 2561 หรือตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561- 31 มี.ค. 2562 นั้น ธนาคารมีรายได้ดำเนินงานรวม 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.74%, กำไร 9.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.24% ขณะที่หนี้เสียอยู่ที่ 3.87% ส่วนสินเชื่อรวม ปล่อยไปได้ 1.44 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.86% ส่วนเงินรับฝากรวม อยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.75% ด้านสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 1 ล้าน 8.73 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.47%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน