ส่องทิศทาง‘15ช่อง’ทีวีดิจิตอล

กัดฟันรบต่อ – หลัง‘7ช่อง’ลาจอ

ในที่สุด 7 ช่องทีวีดิจิตอลก็ตัดสินใจลาจอ และจะเห็นผล ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า

หลังจากตลอด 5 ปีที่ผ่านมาผู้ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลทั้ง 22 ช่อง ส่วนใหญ่ประสบภาวะการขาดทุน เมื่อรายได้จากเม็ดเงินการโฆษณาที่เคยอยู่ระดับแสนล้านบาท กลับลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย และเม็ดเงินที่น้อยลงยังถูกแบ่งด้วยจำนวนช่องฟรีทีวีที่เพิ่มขึ้น และสื่อในแพลตฟอร์มใหม่ๆ

แม้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หาแนวทางช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2559 เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ให้ผ่อนผันจ่ายเงินงวดที่ 4 และช่วยจ่ายค่าโครงข่าย Must Carry 100% ในปี 2560 สนับสนุนค่าโครงข่ายทีวีดิจิตอล (Mux) 50%

แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นเพราะหลายช่องยังประสบภาวะขาดทุน ถึงที่สุดแล้วต้องใช้มาตรา 44 อีกครั้งเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลสามารถคืนใบอนุญาต หรือคืนช่องได้ ทั้งยังได้รับเงินชดเชยอีกด้วย

ทันทีที่มีประกาศออกมาและให้ช่องต่างๆ ยื่นความจำนง ในวันสุดท้ายมีทีวีดิจิตอลรวม 7 ช่อง ยอมยกธงขาว

ประกอบด้วย 1.ไบรท์ ทีวี ช่อง 20, 2.ช่องสปริงนิวส์ 19, 3.สปริงนิวส์ 26 หรือช่อง Now26 เดิม, 4.ช่องวอยซ์ ทีวี 21, 5.อสมท (MCOT) ช่อง 14 MCOT Family, 6.ช่อง 13 แฟมิลี่ และ 7.ช่อง 28 เอสดี

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายไว้ การช่วยเหลือครั้งนี้ถือเป็นมาตรการครั้งสุดท้าย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถแข่งขันได้ออกจากตลาด เพราะที่ผ่านมามี 7 ช่องที่คืนล้วนประสบภาวะขาดทุน จากผลประกอบการที่ออกมาตลอด 5 ปี โดยรวมแล้วผู้ประกอบกิจการขาดทุนไปแล้วนับหมื่นล้านบาท

จากผลประกอบการล่าสุดของช่อง 3 บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ไตรมาส 1/2562 ขาดทุนสุทธิ 128.03 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปี 2561 ที่ขาดทุน 125.98 ล้านบาท

รายได้จากการขายเวลาโฆษณาของกลุ่มบีอีซี ในไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 1,718.5 ล้านบาท ลดลง 18.7% จากไตรมาสที่ 1/2561 มาจากนาทีขายที่โฆษณาลดลง ซึ่งรายได้หลักจากการขายเวลาโฆษณาของกลุ่มบีอีซีนั้นยังคงมาจากการขายเวลา โฆษณาของ ช่อง 3 เป็นหลัก ส่งผลให้รายได้รวมของกลุ่มบีอีซีในไตรมาสที่ 1/2562 อยู่ที่ 2,023.8 ล้านบาท ลดลง 14.8%

ช่อง 3 ตัดสินใจขอคืนใบอนุญาตช่อง 13 และ ช่อง 28 โดยระบุ เพราะแข่งขันสูงและด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนสู่การรับชมผ่านออนไลน์ ทำให้ผลประกอบการขาดทุน จึงต้องการทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดไปที่ช่อง 3 หรือ 33 HD เป็นหลัก

นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการของช่อง 3 ระบุว่า การคืน และไม่คืนใบอนุญาต ล้วนได้ประโยชน์ทั้งคู่ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ตัดสินใจ เพราะการตัดสินใจเรื่องนี้มีหลักเกณฑ์หลายด้าน ไม่ใช่เงินที่จะได้รับชดเชยเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาสถานการณ์เม็ดเงินโฆษณา เรตติ้ง พฤติกรรมการรับชม ตลอดจนทิศทางของช่อง 3 ที่จะมุ่งสู่ออนไลน์ หรือโอทีที

ช่องสปริงนิวส์ นายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ เรื่องการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิตอล เนื่องจาก 5 ปีที่ผ่านมาผลประกอบการขาดทุนมาต่อเนื่อง

การคืนช่องทำให้ได้รับเงินสดจาก กสทช. จำนวน 730.10 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินชดเชยคืนช่อง 456.5 ล้านบาท และเงินประมูลงวด 5 จำนวน 219.60 ล้านบาท แผนธุรกิจของหลังคืนช่องทีวีดิจิตอล จะเป็นผู้ให้บริการคอนเทนต์ผ่านสื่อดิจิตอล โซเชี่ยล มีเดีย และสื่อนอกบ้าน รวมทั้งผลิตรายการทีวีให้กับช่องอื่นๆ

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การคืนใบอนุญาตฯ ช่อง 14 MCOT Family หมวดหมู่ช่องรายการสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับ อสมท และผู้มีส่วนได้เสีย

นับจากนี้ อสมท จะเปิดกว้างให้พันธมิตรภายนอกเข้ามาทำงานร่วมกับ อสมท มากขึ้น ทั้งในด้านการผลิตรายการ, การทำระบบไอทีและเทคโนโลยี และการเปิดตลาดใหม่ๆ ส่วนผลประกอบการปี 2561 ที่ผ่านมา อสมท มีรายได้ 2,562 ล้านบาท ขาดทุน 375 ล้านบาท นับเป็นการขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีติด ตั้งแต่ปี 2559

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาเมื่อ 7 ช่องที่จะคืนใบอนุญาต แน่นอนส่งผลต่อพนักงานที่จะถูกเลิกจ้าง โดยเลขาธิการกสทช. คาดว่าจะมีพนักงานที่ได้รับผลกระทบประมาณ 200-300 คนต่อช่อง จึงขอฝากไว้ เพราะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ตอนตัดสินใจใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งนี้ เป็นห่วงพนักงานที่จะต้องตกงาน ดังนั้น เมื่อได้เงินเยียวยาแล้ว ก็ขอให้เยียวยาพนักงานให้ดีกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดด้วย

สํําหรับเงินชดเชย 7 ช่อง ที่ กสทช.จะต้องจ่ายให้มีการประเมินไว้เบื้องต้นน่าจะอยู่ที่ 3,000-4,000 ล้านบาท จากสูตรการคำนวณค่าชดเชยให้กับผู้ประกอบกิจการที่ขอใบอนุญาตของ กสทช. ที่จะแบ่งการคำนวณเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกนำค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ได้ชำระ แล้วนับถึงงวดที่ 4 ซึ่งครบกำหนดจ่ายปีนี้ คูณด้วยอายุใบอนุญาตในส่วนที่ไม่ได้ ใช้งานคลื่นความถี่ และหารด้วยอายุใบอนุญาตทั้งหมด คือ 15 ปี

และส่วนที่ 2 ให้คำนวณสิทธิประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาต ได้รับระหว่างการประกอบกิจการจากรัฐมาหักลบออก ได้แก่ เงินสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย (MUX) และค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามเกณฑ์ Must Carry ตั้งแต่วันที่ได้รับการสนับสนุนจนถึงวันยุติการให้บริการ และผลประกอบการที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึง 11 เม.ย. 2562

จากนี้เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ตามที่ กสทช.กำหนด การยุติบริการทั้ง 7 ช่องน่าจะประมาณเดือนส.ค.นี้ จากนั้น กสทช. จะจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกอบกิจการที่คืนช่อง

หลังจากนี้จะเหลือผู้ให้บริการทีวีดิจิตอล 15 ช่อง ที่ตัดสินใจไปต่อ แม้มีบางช่องยังประสบปัญหาขาดทุน และรู้อยู่แล้วว่า จากนี้ไปจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดรอบด้าน

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือเอ็มไอ กล่าวว่า 15 ช่องทีวีดิจิตอลยังต้องเผชิญกับการแข่งขัน ที่สูง เพราะปัจจุบันบริษัทโฆษณา หรือเอเยนซี่ ใช้เงินโฆษณา ผ่านสื่อทีวีลดลงต่อเนื่อง 4 เดือนของปีนี้สัดส่วนอยู่ที่ 51.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 54%

ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้คาดมีมูลค่าประมาณ 9 หมื่นล้านบาท เติบโต 1% ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกหดตัว 2.6% โดยทีวีดิจิตอล เคเบิล ทีวีดาวเทียม และสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในภาวะหดตัว แต่สื่อออนไลน์ยังขยายตัวได้

สนามรบของจริงกำลังจะเริ่มต้นยกสอง คราวนี้คงยากจะมีช่องไหนมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือจาก กสทช. หรือรัฐบาลอีก

เนื่องจากทั้ง 15 ช่องที่เหลือตัดสินใจทิ้งรถไฟขบวนสุดท้าย เดินหน้าต่อนั่นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน