สอน. พยากรณ์แนวโน้มผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูผลิตปี 2562/63 ส่อลดลง เหตุเกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นทดแทนหลังราคาตกต่ำต่อเนื่อง เชื่อดันราคาน้ำตาลโลกลุ้นแตะ 15 เซนต์ต่อปอนด์

สอน. คาดอ้อยปี 62/63 ลดลง – นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน. คาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลทรายตลาดโลกฤดูการผลิตปี 2562/63 จะต่ำกว่าฤดูการผลิตที่ผ่านมา เนื่องจากนักวิเคราะห์มองสถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงขึ้น ประกอบกับราคาอ้อยที่ตกต่ำต่อเนื่องมา 3-4 ปี ส่งผลให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่มีราคาดีกว่า หลังจากนั้นประเมินแนวโน้มราคาน้ำตาลโลกจะเข้าสู่จุดสมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภคน้ำตาล ทำให้ระดับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกกลับมาสู่ระดับราคา 15 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ทำให้ประเทศผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่ได้

“ขณะนี้ สอน. ยังคงติดตามปัจจัยพื้นฐานของสถานการณ์ภัยแล้งและราคาน้ำตลาดโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภัยแล้งที่มีผลกระทบต่อผลผลิตไทยและอินเดียเป็นสำคัญ ขณะที่จีน อินโดนีเซียยังคงมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้บราซิลนำอ้อยไปผลิตเอทานอลแทนการส่งออกน้ำตาล ทั้งยังมีการเก็งกำไรจากการซื้อขายล่วงหน้า ทำให้ราคาน้ำตาลโลกกลับเข้าสู่จุดสมดุลได้”นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับอ้อยของไทยฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่ปิดหีบไปล่าสุดมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 130 ล้านตัน มีปริมาณน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ประมาณ 14.5 ล้านตัน แม้ปริมาณอ้อยจะลดลง 4 ล้านตัน แต่ปริมาณน้ำตาลใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เห็นได้จากค่าความหวานที่สูงจากประสิทธิภาพโรงงานที่เพิ่ม ทำให้ภาพรวมตัวเลขผลผลิตสูงกว่าที่ประเมินไว้ และสามารถส่งออกได้ประมาณ 12 ล้านตัน เป็นภาวะเดียวกับอินเดียที่ผลผลิตก็เหลือบริโภคในประเทศ ทำให้ปริมาณน้ำตาลโลกมีสต็อกล้นเกินความต้องการในฤดูนี้

นางวรวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ส่งมอบเดือนก.ค. 2563 อยู่ที่ประมาณ 13.06 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งทางบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) พยายามทำราคาขายน้ำตาลล่วงหน้าในระดับราคาที่ไม่ให้ต่ำกว่า 13 เซนต์ต่อปอนด์ เพื่อไม่ให้ราคาอ้อยที่จะคำนวณขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2562/63 ตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม กรณีที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ ม.44 ประกาศลอยตัวราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในประเทศ 2 ฤดูการผลิต ที่จะครบกำหนดสิ้นเดือนก.ย.นี้ นั้น อาจมีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเฉพาะบางมาตราเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปปกติ แต่ก็มีกฤษฎีกาบางท่านเสนอว่าให้กำหนดแบบไม่กำหนด คงต้องหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลกฎหมายอีกครั้ง

ส่วนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย ที่สอน. ยกร่างใหม่ได้ปรับปรุงบางมาตรา เตรียมเสนอให้รมว.อุตสาหกรรมคนใหม่พิจารณาอีกครั้ง หากไม่ต้องแก้ไขก็ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ จากนั้นก็เข้าสู่วาระการพิจารณาในขั้นกรรมาธิการได้ทันที

นางวรวรณ กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนใหม่ของโรงงานน้ำตาลในไทย ว่า ล่าสุดมีเอกชน 2 รายใหญ่ เตรียมเปิดโรงงานน้ำตาลใหม่ 2 แห่งภายในปีนี้ ที่จังหวัดอำนาจเจริญ 1 แห่งของบริษัท มิตรผล จำกัด น้ำตาลยี่ห้อมิตรผล และที่จังหวัดสกลนครอีก 1 แห่งของบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด น้ำตาลยี่ห้อลิน ส่งผลให้ไทยมีโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 56 โรง จากปัจจุบันมีทั้งหมด 54 โรง

นอกจากนี้ ยังเตรียมออกใบรับรองตั้งโรงงานให้กับโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ของ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ในเครือ ปตท. และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ที่พร้อมลงทุน 7,500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงหีบอ้อย กำลังการผลิต 24,000 ตัน/วัน และสร้างโรงผลิตเอทานอล กำลังการผลิต 600,000 ลิตร/วัน หรือประมาณ 186 ล้านลิตร/ปี และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน