พาณิชย์เสริมแกร่ง‘โชห่วย’ ‘5แสน’ราย-มุ่งสู่ออนไลน์ : รายงานพิเศษ

ความสำคัญของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกภาคธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญของประเทศ

จากข้อมูลของกองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่าภาคธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกคิดเป็น 16.49% ของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2.6 ล้านล้านบาท

รากฐานหลักของภาคธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก คือกลุ่ม ค้าส่ง-ค้าปลีกท้องถิ่นระดับจังหวัด และกลุ่มร้านค้าปลีก หรือที่เรียกว่า “โชห่วย” มีจำนวนกว่า 500,000 ร้านค้า ทั่วประเทศ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท

ร้านค้าส่งค้าปลีกมีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของประชาชนไทยมายาวนาน เป็นภาพจำของสังคมไทยที่มีร้านค้าชุมชนเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจชุมชน เป็นแหล่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคของประชาชนทุกระดับ เป็นแหล่งสร้างรายได้ ให้แก่ชุมชน

นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการบัตรสวัสดิการ แห่งรัฐ ร้านค้าส่งค้าปลีกชุมชนก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการดำเนินมาตรการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาค่าครองชีพของภาครัฐ เพื่อบรรเทาปัญหาการดำรงชีพให้แก่กลุ่มคนจำนวนกว่า 14.5 ล้านราย

ทั้งยังส่งผลต่อการกระตุ้นหมุนเวียนและขยายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยจนถึงเดือนเม.ย. 2562 มีการใช้จ่ายร้านค้าธงฟ้าประชารัฐรวม 57,860.80 ล้านบาท

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รับสมัครร้านค้าเพื่อ ใช้งานแอพพลิเคชั่น ‘ถุงเงินประชารัฐ’ ตั้งเป้ารับสมัคร ร้านค้าที่จะร่วมโครงการให้ได้ 100,000 ร้านค้าทั่วประเทศ ภายในเดือนก.ค. นี้

ร้านค้าปลีกค้าส่งที่อยู่ในการส่งเสริมของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็เป็นเป้าหมายหลักที่ได้เข้าร่วมโครงการ

บ่งบอกถึงการปรับตัวของธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลากว่า 20 ปี ที่มีการเข้าสู่รูปแบบการค้าปลีกสมัยใหม่ ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการการอำนวยความสะดวก มาตรฐานการบริการที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการปรับตัว เปลี่ยนแปลงรูปแบบการประกอบธุรกิจ ให้สอดคล้องกับตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

ทั้งในด้านรูปแบบการค้า การแข่งขัน การตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว มาตรฐานการบริการที่ดีขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital Disruption) ส่งผลให้ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทยจำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่รูปแบบการค้าปลีกสมัยใหม่

ที่ตอบสนองสภาวะและพฤติกรรมตลาด ทั้งด้านการสร้างภาพลักษณ์การบริการ และการค้าออนไลน์ เพื่อให้อยู่รอดและเติบโตทุกสถานการณ์

ขณะที่นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก รวมถึงร้านค้าธงฟ้าประชารัฐและร้านค้าปลีกโชห่วย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy)

ปัจจุบันร้านค้าโชห่วยทั่วประเทศมีมากกว่า 500,000 ราย มีจุดด้อยหลายด้าน ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เล็งเห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะให้การพัฒนา ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงสร้างแนวคิดการสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วน เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิต ผู้ค้าส่งค้าปลีก

เพราะการอยู่รอดของโชวห่วย หมายถึงการอยู่ได้ของทุกคนในห่วงโซ่ และยังส่งผลต่อการยกระดับมาตรฐาน การครองชีพของผู้บริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสุดท้าย ภายใต้ความร่วมมือ “จับมือพันธมิตร ติดปีกโชวห่วยไทย”

เบื้องต้นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ห้างค้าส่งสมัยใหม่ ผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่ายสินค้า อุปโภคบริโภค สถาบันการเงิน Startup และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บูรณาการส่งเสริมและพัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกแบบครบวงจร

ทั้งในการสร้างองค์ความรู้สมัยใหม่ การปรับภาพลักษณ์ร้านค้า การจัดหาสินค้า การเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลธุรกิจ

ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ สามารถขยายเป้าหมายการพัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกไทยเพิ่มขึ้นเป็นปีละประมาณ 10,000 ร้านค้า และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป

นอกจากนี้ยังมีโครงการอบรมผู้ประกอบธุรกิจค้าส่ง-ปลีกในยุค 4.0 หรือ ‘Retail Business 4.0 Conference’ ภายใต้หัวข้อ อนาคตที่เรากำหนดได้ หรือ ‘The future is now’

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ประเทศไทย หรือพีแอนด์จี บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทยในการจัดอบรมดังกล่าว หวังว่าในปีนี้กลุ่มธุรกิจค้าส่ง-ปลีกจะช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานในระดับ ท้องถิ่น

นอกจากนี้การเติบโตของกลุ่มธุรกิจนี้ ยังจะช่วยสร้างสินค้าที่หลากหลายให้กับร้านค้าปลีกขนาดเล็ก และช่วยให้ร้านค้ากลุ่มนี้เติบโต ซึ่งถือเป็นหนึ่งวิธีในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ด้านนายราฟฟี ฟาจาร์โด กรรมการผู้จัดการบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ประเทศไทย พม่า และลาว กล่าวว่าตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา บริษัทร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจโดยการช่วยให้ธุรกิจของคู่ค้าธุรกิจค้าส่ง-ปลีกของไทย เติบโต

ในปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้วที่พีแอนด์จี ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์จัดโครงการอบรมผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่ง-ปลีกในยุค 4.0 ถือเป็นโครงการพันธกิจของเราที่จะช่วยนำประเทศไทยสู่ยุค 4.0

“ปีนี้เราเล็งเห็นความต้องการของคู่ค้าทางธุรกิจของเราอย่างชัดเจน ในการปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิตอลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน” นายราฟฟีกล่าว

ส่วน นายเบน คิง กรรมการ ผู้จัดการบริษัท กูเกิ้ล (ประเทศ ไทย) กล่าวว่ารายงานประจำปีพ.ศ.2562 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากกูเกิ้ล-เทมาเส็ก บ่งชี้ว่า ธุรกิจด้านอินเตอร์เน็ตจะเติบโตจนมีมูลค่าถึง 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี พ.ศ.2568

ธุรกิจที่นำการเติบโตนี้เป็นธุรกิจเอสเอ็ มอีถึง 99.7% ซึ่งเป็น 42% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย แต่เรายังควรผลักดันการช่วยเหลือธุรกิจไทยให้เติบโตและประสบความสำเร็จในยุค ดิจิตอล

ความมุ่งมั่นของกูเกิ้ลประเทศไทย คือการช่วยให้คนไทยและธุรกิจไทย มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างแพร่หลาย โดยหลายปีที่ผ่านมา กูเกิ้ลมุ่งเน้นองค์กรของเราในการเข้าถึง ให้การศึกษา เพิ่มเนื้อหาและผลิตภัณฑ์ และธุรกิจเอสเอ็มอี

หวังว่าเครื่องมือ เช่น Google My Business ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้งานง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย จะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถมีบทบาททางโลกออนไลน์ ทั้งใน Google Search และ Google Maps เพื่อช่วยดึงดูดลูกค้าใหม่ให้มองเห็นร้านค้าต่างๆ ในการค้นหาผ่านกูเกิ้ลและแผนที่ของกูเกิ้ล และเพิ่มความสนใจกับกลุ่มลูกค้าปัจจุบัน

บริษัทมีความยินดีที่ได้ร่วมงานกับพีแอนด์จี เพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี ในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จในยุคดิจิตอล และช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ยุค 4.0

การดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น นับเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติให้ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย ทุกฝ่ายเห็นภาพรวมเดียวกันในการทำงาน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย สร้างความยั่งยืนของประเทศ สร้างภาพลักษณ์ และยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจให้แก่ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ร้านค้าโชห่วย ร้านค้าชุมชนทุกระดับ

ขยายผลสู่การเพิ่มโอกาส-ช่องทางการตลาดการจำหน่าย และสร้างรายได้ของชุมชน เช่น ให้โอกาสของช่องทางตลาดสินค้าชุมชน สินค้าเกษตรนวัตกรรม เกิดบรรยากาศแห่งความเกื้อกูลและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

เพื่อเติบโตภายใต้การขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน