ศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยดีขึ้น 5 อันดับ สภาพัฒน์ และTMA เผยผลการจัดอันดับฯ จาก IMD ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 25 จากอันดับที่ 30

แข่งขันไทยดีขึ้น 5 อันดับ – สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2562 โดยเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับสูงสุด 5 อันดับแรกคือ สิงคโปร์ เลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 แทนที่สหรัฐอเมริกาซึ่งลดอันดับลงไปเป็นที่ 3 รองลงมาคือ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตามลำดับ ทั้งนี้ IMD ทำการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก

สำหรับเขตเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับ 5 เขตเศรษฐกิจ มีอันดับดีขึ้นเกือบทั้งหมด ประกอบด้วยสิงคโปร์ซึ่งขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 มาเลเซียมีอันดับคงที่ ที่ 22 เช่นเดียวกับปีที่แล้วส่วนประเทศไทยสูงขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 เป็น 25 อินโดนีเซียมีอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากอันดับที่ 43 เป็น 32 และฟิลิปปินส์ จากอันดับที่ 50 เป็น 46

เมื่อพิจารณาผลการจัดอันดับของไทย จากผลการจัดอันดับที่แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีผลการจัดอันดับดีขึ้น 3 ด้าน ประกอบด้วยด้านสภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจลดลง 2 อันดับ

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ในปีนี้ผลการจัดอันดับของประเทศไทยดีขึ้นถึง 5 อันดับ โดยที่ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้นถึง 2 อันดับ ในด้านเศรษฐกิจนั้น ปรากฏว่าด้านการลงทุนต่างประเทศ (International Investment) มีอันดับที่ดีขึ้นมากเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนจากต่างประเทศ ในขณะที่การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจก็ส่งผลให้อันดับด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ (business legislation) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้นถึง 4 อันดับ ซึ่งก็นับว่าเป็นผลจากการที่รัฐบาลได้มีแนวทางที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการปรับกฎระเบียบให้ทันสมัย คล่องตัว และส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในการให้บริการให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐานเชิงโครงสร้างในทุกด้าน และกำลังผลักดันต่อไปให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องและในวงที่กว้างขวางมากขึ้น

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาและตลอดช่วงปีนี้สภาพัฒน์ฯ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ได้พยายามผลักดันและประสานให้เกิดการขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยที่ในด้านข้อมูลสภาพัฒน์ก็ได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ในการผลักดันและสร้างความตระหนักอย่างต่อเนื่องให้หน่วยงานเจ้าภาพข้อมูลมีการจัดระบบข้อมูลที่ใช้ในการจัดอันดับของสถาบัน IMD ให้มีความถูกต้อง และทันสมัย

ขณะเดียวกันในปีนี้สภาพัฒน์ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนของสังคมถึงความสำคัญของความสามารถในการแข่งขันที่มีต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อที่ทุกภาคส่วนจะได้ช่วยกันดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้อง โดยสภาพัฒน์ได้ดำเนินการโครงการที่เรียกว่า “การสร้างอนาคตประเทศไทย” หรือ “Futurising Thailand” โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท 101% ซึ่งโครงการนี้ทำหน้าที่ในการสื่อสารสาธารณะในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสาธารณชนในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องจุดเน้นหลักของนโยบายที่จะยกระดับขีดความสามารถทั้งในเรื่องทุนมนุษย์ กฎระเบียบ และการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่จะพัฒนาขีดความสามารถให้มีความทั่วถึงในระดับพื้นที่ รวมทั้งรัฐบาลก็ได้มีการเร่งรัดให้หน่วยงานดำเนินแผนงาน/โครงการที่จะส่งผลต่อการพัฒนาทั้ง 4 ด้านที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อยกอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นตามลำดับ

ด้านน.ส.วรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ในปีนี้ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 5 อันดับเป็นอันดับที่ 25 ซึ่งนับเป็นอันดับสูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ผลการจัดอันดับดีขึ้น ยังมีประเด็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นรากฐานของการสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวที่มีอันดับสูงขึ้นถึง 4 อันดับจากปีที่แล้ว อันเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องของทั้งภาครัฐและเอกชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศเพิ่มอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชนที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)จากสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดร้อยละ 1 ของ GDP อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นประเด็นท้าทายของประเทศ คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาช่วยเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจขนาดย่อมและภาคการเกษตร รวมถึงการพัฒนากำลังคนให้เท่าทันเทคโนโลยีและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ได้ลงทุนไปเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้และบริการทางสังคมต่างๆอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ TMA ได้มีบทบาทในการทำให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาตั้งแต่ 2540 นับตั้งแต่ TMA ได้เข้าร่วมเป็น Partner Institute กับสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในโครงการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดโครงการ Thailand Competitiveness Enhancement Program มาตลอดระยะเวลา 10 ปี เพื่อประสานความร่วมมือของภาคเอกชนกับภาครัฐ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมี TMA Center for Competitiveness เป็นหน่วยงานหลักในการประสานและขับเคลื่อนโครงการฯ

“เป้าหมายของ TMA ยังคงมุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งในระดับบุคคล ระดับองค์กร และระดับประเทศ ภายใต้แนวคิดหลัก 3 ประการ คือ การสร้างความร่วมมือ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการเพิ่มศักยภาพความเป็นผู้นำและบริหารจัดการ และในวันที่ 3-4 ก.ค. 2562 สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จะมีการจัดสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2019 ภายใต้หัวข้อ Rethinking the Future ที่จะกล่าวถึงสภาพการแข่งขันภายใต้บริบทใหม่ของโลก ความพร้อม และอนาคตของประเทศไทยในโลกยุคใหม่ รวมถึงการร่วมกันจัดทำโครงการต้นแบบสำหรับอนาคต” น.ส.วรรณวีรากล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน