สรรพากรกุมขมับนโยบายรัฐบาลใหม่เล็งลดภาษีเงินได้ทุบเสถียรภาพคลัง สั่งทีมเร่งศึกษาหาช่องยกเลิกค่าลดหย่อนสารพัดหวั่นรายได้ขาดมือ ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มยังไม่ขึ้น เพราะเศรษฐกิจเริ่มชะลอ คาดปีนี้รายได้ยังตามเป้าหมาย 2 ล้านล้านบาท

สรรพากรรับมือรัฐบาลใหม่ลดภาษี – นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ไปพิจารณามาตรการทางภาษีต่างๆ ที่พรรคการเมืองที่คาดว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลใช้หาเสียงไว้ ว่าแต่ละมาตรการจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการจัดเก็บรายได้รัฐบาลอย่างไร แม้ว่าหลายมาตรการจะส่งผลดีต่อประชาชนก็ตาม แต่ถ้าการจัดเก็บรายได้แผ่นดินลดลง ก็จะกระทบกับเศรษฐกิจในประเทศ มีผลต่อเสถียรภาพการคลัง และจำเป็นต้องมีมาตรการอะไรมาชดเชย เพื่อไม่ให้กระทบกับเสถียรภาพการคลังของประเทศ เป็นเรื่องที่กรมสรรพากรต้องเตรียมไว้เสนอรัฐบาลใหม่ทั้งหมด

“หน้าที่ของข้าราชการ ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องเคารพและเสนอผลกระทบของนโยบายอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งนโยบายทุกพรรค กรมฯ ก็มีทีมศึกษาไว้อยู่ ทุกนโยบายแม้จะมีประโยชน์กับประชาชน แต่ก็มีต้นทุน ก็ต้องเสนอผลการวิเคราะห์ผลกระทบให้รัฐบาลใหม่พิจารณา หน้าที่เราไม่ได้เป็นฝ่ายตัดสินใจ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐบาล”นายเอกนิติ กล่าว

ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชารัฐมีการเสนอให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 10% ทุกระดับขั้น และเว้นภาษีสินค้าออนไลน์ 2 ปี จะกระทบกับการจัดเก็บหรือไม่นั้น ขณะนี้ ทีมงานกรมสรรพากรกำลังดูว่ามีนโยบายช่วยเหลือเรื่องอะไรบ้าง การลดภาษีจะกระทบกับเสถียรภาพการคลังหรือไม่ จำเป็นต้องมีการหารายได้อื่นมาชดเชย ซึ่งขณะนี้พิจารณาไว้หลายแนวทาง เช่น กรณีลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แล้วในหลักการจัดเก็บจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ และจะทำอย่างไรให้เดินหน้าได้ ซึ่งอาจจะต้องมีการยกเลิกมาตรการหักค่าลดหย่อนในบางรายการที่หมดความจำเป็นออกไป

ทั้งนี้ ค่าหักลดหย่อนในปี 2562 มีมากกว่า 10 รายการ ซึ่งแต่ละมาตรการก็มีข้อดี ข้อเสีย เช่น ค่าหักลดหย่อนส่วนตัว หักค่าลดหย่อนจากรายจ่ายซื้อประกัน ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบุพการี ค่าลดหย่อนดูแลผู้พิการ ค่าลดหย่อนซื้อสินค้าโอท็อป เป็นต้น ซึ่งค่าลดหย่อนที่มีหลายรายการ ก็ทำให้เวลายื่นแบบวุ่นวาย ยุ่งยาก ถ้าลดหย่อนไม่มาก กระบวนการต่างๆ ก็ลดลง รวมทั้ง ค่าลดหย่อนจากมาตรการพิเศษรายปี เช่น มาตรการช็อปช่วยชาติ ซึ่งถ้ามีการลดภาษีเงินได้ในภาพรวมไปแล้ว ค่าลดหย่อนก็ไม่จำเป็นต้องให้อีก

นายเอกนิติ กล่าวว่า การพิจารณาปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 7% แต่ยังมีกรอบที่จะสามารถจัดเก็บได้ที่ 10% นั้น เรื่องนี้เป็นประเด็นคลาสสิก คำตอบจึงมีความอ่อนไหว ซึ่งการจะปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถือเป็นรายได้สำคัญของรัฐ มีสัดส่วนกว่า 40% ของรายได้กรมสรรพากร จะต้องพิจารณาให้รอบคอบและดูภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจเพราะจะมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งทุกอัตราภาษี 1% ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง คิดเป็นรายได้รัฐที่เพิ่มหรือลดลง 7 หมื่นล้านบาท และขณะนี้เศรษฐกิจก็มีทิศทางชะลอตัว แต่การตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่

ทั้งนี้ นายเอกนิติ กล่าวในการประชุมสัมมนาผู้บริหารกรมสรรพากร ทั่วราชอาณาจักรว่า ได้ให้นโยบายผู้บริหารสรรพากรจากทั่วประเทศ ใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาวิเคราะห์ข้อมูลภาษีเร่งเก็บภาษีในกลุ่มผู้ที่หลีกเลี่ยงอย่างเข้มข้น เพื่อให้สามารถเก็บรายได้ปีนี้ให้เข้าเป้าหมาย 2 ล้านล้านบาท หลังจากในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของมีแนวโน้มที่กรมฯจะเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งสงครามการค้าทำให้การส่งออกนำเข้าลดลง รวมถึงภาวะการเมืองที่ทำให้การเก็บภาษีมูลค่าลดลงจากกำลังซื้อที่ชะลอตัว

“แม้ในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 2562 หรือตั้งแต่เดือนต.ค.2561-พ.ค. 2562 กรมฯ สามารถจัดเก็บภาษีสรรพากรได้จำนวน 1.22 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 3.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเกินเป้าครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี เป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีปิโตรเลียม การเคลียร์ประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ แต่ก็พบว่าในระยะหลังมีหลายเดือนเก็บภาษีได้หลุดเป้าหมาย เช่น เดือนก.พ.-เม.ย. และในช่วง 4 เดือนสุดท้าย น่าจะต่ำกว่าเป้าอีก จึงให้มีการเร่งตรวจสอบโดยพุ่งเป้าไปที่คนหนีภาษี เพราะเป็นการเอาเปรียบคนอื่น”นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติกล่าวว่า สำหรับการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลในปีนี้ จะต้องรอประเมินผลในเดือนมิ.ย.นี้ก่อน แต่ในปีนี้กรมฯ ได้มีการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้อง โดยมีการออกมาตรการยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้ผู้ที่พร้อมจะปรับปรุงการเสียภาษี หรืองบการเงินให้ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ซึ่งขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 4 หมื่นราย คาดว่าเมื่อสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2562 จะมีผู้สมัครกว่า 1 แสนราย

นอกจากนี้ กรมสรรพากรจะขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นในส่วนของการเสียอากรแสตมป์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาระบบการออกใบกำกับภาษี-ใบเสร็จภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อตรวจจับพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษี พร้อมทั้งการศึกษาการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับผู้เสียภาษี ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำใช้ได้ภายในครึ่งปีหลังของปีปฏิทิน 2562

ขณะเดียวกันได้นำผู้บริหารกรมสรรพากรทั่วประเทศประกาศเจตนารมณ์ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นกรมสรรพากรคุณธรรม ได้แก่ ความซื่อสัตย์ การปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์และรักษาประโยชน์ส่วนรวม ไม่เรียกรับผลประโยชน์ใดๆ หรือรับจ้างจากผู้เสียภาษีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความรับผิดชอบ ความมุ่งมั่น ทุ่มเท กำกับงานที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จ คอยให้คำปรึกษาที่ดีแก่ลูกน้อง และไม่ปัดความรับผิดชอบ และมอบใจบริการ การให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มาติดต่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน