‘ประยุทธ์’ ห่วงแล้งรับหลายเขื่อนวิกฤตสั่งข้าราชการเตรียมรับมือ – วอนประชาชนเก็บผักตบคนละ 3 ต้นแก้สิ่งกีดขวางน้ำ สั่งให้ดูแลน้ำในพื้นที่อีอีซี และเขตเศรษฐกิจ 4 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพิเศษ

‘บิ๊กตู่’ ห่วงแล้งหลายเขื่อนวิกฤต – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดงาน “สร้างรู้ สื่อสาร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝน ปี 2562” ว่า เนื่องจากชุมชนเมือง และการขยายตัวของอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพน้ำทวีความรุนแรงมากขึ้น ไทยต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ ทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความมั่นคง เพิ่มผลิตผลในเรื่องการจัดการและการใช้น้ำทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มระดับการฟื้นตัว และลดความเสียหายจากภัยพิบัติด้านน้ำ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำมาโดยตลอด โดยได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาและจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ได้ดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำระบบกระจายน้ำใหม่ พัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำพื้นที่เกษตรน้ำฝน เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม และพัฒนาแหล่งน้ำรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมใหม่ ผลลัพธ์ที่ได้ ประชาชน ได้รับประโยชน์ 4.35 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 3.15 ล้านไร่ และได้ปริมาณน้ำ 4,318 ล้าน ลบ.ม.

การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ได้ดำเนินการปรับปรุงทางน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชน/เมือง ผลลัพธ์ที่ได้ ป้องกันพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 7.85 ล้านไร่ ชุมชนเมือง 69 แห่ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายการบริหารจัดการน้ำของประเทศ การลดความเสียหายจากภัยแล้ง น้ำท่วม ลดลง โดยพื้นที่ประกาศภัยแล้ง และลดงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม-ภัยแล้ง เดือนม.ค. 2551-มิ.ย. 2554 ใช้งบประมาณช่วยเหลือทั้งหมด 50,281 ล้านบาท เดือนก.ค. 2554-มิ.ย. 2557 ใช้งบประมาณช่วยเหลือทั้งหมด 89,755 ล้านบาท และจากเดือนก.ค. 2557-ก.ย. 2561 ได้ใช้งบประมาณในการช่วยเหลือทั้งหมด 18,574 ล้านบาท

แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยธรรมชาติถี่และรุนแรงมากขึ้น ส่งผลต่อการผลิตในภาคการเกษตร ความมั่นคงด้านน้ำและอาหาร เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยไทยเกิดความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศและอาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารทั้งระดับประเทศและระดับครัวเรือน

“ต้องยอมรับว่าหลายเขื่อนมีปริมาณน้ำน้อย จนอยู่ในขั้นวิกฤต ต้องปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ส่วนฤดูน้ำหลาก ก็ต้องเตรียมตัวก่อนที่น้ำจะมาเพื่อทำลาย สิ่งกีดขวาง อาทิ ผักตบชวา ที่ขยายพันธุ์จำนวนมาก ประชาชนคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน คนละไม้ละมือ คนอยู่ริมตลิ่งก็ช่วยกันเก็บคนละ 3 ต้น ไม่ต้องรอเงินจากภาครัฐ ทุกฝ่ายต้องเตรียมรับมือ ไม่ใช่พอเวลาฝนตกมา ฟิวก็ขาดเหมือนกรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ทุกคนทั้งภาครัฐและเอกชนต้องปรับตัว รัฐบาลต้องวางรากฐานด้านน้ำ กระจายเข้าชุมชนเศรษฐกิจ ต่างๆ ให้มากขึ้น กรณีระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเขตเศรษฐกิจ 4 จังหวัดชายแดนใต้ต้องดูแลเป็นพิเศษ เตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ทันต่อการแก้ไขปัญา โดยมุ่งหวังว่าทั้งชุมชนเมือง และชนบทจะได้รับประโยชน์ทางด้านน้ำอย่างเท่าเทียมกัน”

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ในวันที่ 18 มิ.ย. นี้ คาดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 20 ปี หากได้รับความเห็นชอบ หลังจากนั้น สทนช. จะเริ่มงานตามแผนปฏิบัติการตามเขตลุ่มน้ำและชุมชนต่างๆ กว่า 300-400 โครงการ ไล่เรียงตามลำดับความสำคัญ ในส่วนของอีอีซี นั้น ปัจจุบันได้ศึกษาพร้อมทำประชาพิจารณ์ให้เป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่แล้ว ที่นายกฯ ห่วงมากคือการแก้ไขปัญหามลพิษของแหล่งน้ำตามเกาะต่างๆ ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากคนในพื้นที่ร่วมกันวางแผนแก้ไข ในเบื้องต้น ที่เกาะช้างและเกาะพงัน มีแผนดำเนินการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน