การรถไฟ ทุ่มงบ 151 ล้านบาท ปรับปรุง “รถด่วน-รถนอน” สายเหนือ-ใต้ เพิ่มความสะดวกผู้โดยสาร พร้อมเร่งลดต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ปรับปรุง “รถด่วน-รถนอน” – รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา รฟท. ได้ประกาศร่างทีโออาร์โครงการประกวดราคาจ้างดัดแปลงรถโดยสารเพื่อใช้งานร่วมกับรถโบกี้ไฟฟ้ากำลัง จำนวน 95 คัน ด้วยวิธีประกวดราคา อิเล็กทรอนิกส์ (e- bidding) วงเงินงบประมาณรวม 151,619,920 ล้านบาท เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 15 วันโดยจะปิดรับฟังความเห็นในวันที่ 18 มิ.ย.นี้

สำหรับโครงการปรับปรุงขบวนรถโดยสารครั้งนี้ เป็นนโยบายของ รฟท. ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของบวนรถโดยสารรถด่วน และรถด่วนพิเศษ ให้สามารถประหยัดพลังงานได้มากขึ้น เนื่องจากขบวนรถด่วนและด่วนพิเศษ เดิมใช้ระบบเจนเนอเรเตอร์ หรือเครื่องปั่นไฟแบบติดตั้งภายในบนขบวนรถแต่ละขบวน ทำให้ต้องสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการปั่นไฟมาก จึงจำเป็นต้องดัดแปลงรถโดยสารใหม่ เพื่อให้สามารถนำขบวนรถไปพ่วงรถโบกี้ไฟฟ้ากำลัง (เพาเวอร์คาร์) แทนได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้ เพราะเพาเวอร์คาร์ 1 คัน สามารรถพ่วงขบวนรถโดยสารได้หลายขบวน และยังช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งจะทำให้ผู้โดยสารเดินทางในระยะไกลมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

“ขบวนโดยสารที่จะปรับปรุงใหม่ คือ รถด่วนและรถด่วนพิเศษที่ให้บริการ เส้นทาง เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ตรัง และสุไหงโกลก คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ และภายในขบวนจะสะดวกสบายมากขึ้น ขบวนรถจะเงียบไม่มีเสียงเครื่องปั่นไฟรบกวนแบบเดิม เพราะจะไม่มีเครื่องปั่นไฟในขบวนแล้ว คาดว่าจะนำรถขบวนใหม่มาให้บริการประชาชนจะได้ในปี 2564”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน