ซิตี้แบงก์หั่นจีดีพีไทยเหลือ 3.3% – จี้รัฐบาลใหม่เร่งลงทุนหวั่นเสียโอกาส ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ มองว่าเป็นปัจจัยที่สะท้อนว่าต่างชาติมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น

ซิตี้แบงก์หั่นจีดีพีไทย – น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2562 จะเติบโตได้ 2.9% ลงจากต้นปีที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3% และเป็นการเติบโตแบบชะลอตัวลงจากปีที่แล้วที่เติบโตได้ 3.2% ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 จะเติบโตได้ 2.8% ไม่แตกต่างจากปีนี้มากนัก แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงยังมีค่อนข้างมาก ไม่ว่าเป็นมาตรการกีดกันด้านการค้า เป็นปัจจัยสำคัญด้านการลงทุนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากกระทบความเชื่อมั่นของการใช้จ่ายต่างๆ และจะเป็นปัจจัยสำคัญจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินและการปรับตัวของค่าเงินทั่วโลกด้วย

สำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ได้ปรับประมาณการลดลงเช่นกัน โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 3.3% และปีหน้าคาดว่าจะปรับดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 3.7% จากปัจจัยกีดกันด้านการค้าของสหรัฐ จะมีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับทางการไทย ไม่ว่าจะเป็นกระทวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงนโยบายการเงินของประเทศอื่นๆ อาจจะมีมาตรการมาช่วยทำให้เศรษฐกิจสามารถพยุงตัวและปรับตัวได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ธนาคารซิตี้แบงก์ มีมุมมองต่อตลาดการเงินไทยเป็นบวกมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยนักลงทุนต่างชาติทยอยเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ถึงขณะนี้มีสถานะเป็นซื้อสุทธิ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปีที่แล้วมีการเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในปีที่แล้วสูงถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ มองว่าเป็นปัจจัยที่สะท้อนว่าต่างชาติมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังมีค่อนข้างสูงแม้ว่าจะลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากการส่งออกเริ่มอ่อนแอ แต่โดยรวมแล้วในระยะสั้นเป็นปัจจัยบวกที่เข้ามาสนับสนุนให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ได้มากขึ้น

ในส่วนของการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศ (เอฟดีไอ) อาจจะไม่ได้ฟื้นขึ้นชัดเจนนัก แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยเชิงบวก คือ หลังจากมีความชัดเจนด้านการเมืองแล้ว ทำให้รัฐบาลมีความต่อเนื่องด้านการลงทุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพิ่มมากขึ้น มีผลให้มีการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศมองประเทศไทยว่ามีความน่าลงทุนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี คงต้องรอดูตัวเลขการเติบโตของเศษฐกิจจีน และการฟื้นตัวของภาคส่งออก และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่ด้วยว่า จะมีส่วนทำให้ประเทศมีความน่าสนใจลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างไร

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการจัดตั้งคณะรัฐบาลเสร็จสิ้นแล้ว อย่างน้อยก็มีผลเชิงบวกด้านความเชื่อมั่นในการลงทุน เนื่องจากจะนำไปสู่การร่างนโยบายและร่างงบประมาณรายจ่าย ซึ่งอาจต้องติดตามรายละเอียดของนโยบายและความชัดเจนมากกว่านี้ สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการในส่วนของการลงทุนโครงการต่างๆ อาทิ โครงการอีอีซี และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากในปีนี้ต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศเพื่อมาขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ขณะที่มาตรการระยะสั้นคงต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะสัญญานต่างๆ ไม่ว่าการส่งออก การผลิต การจ้างงาน ยังไม่ดีขึ้น ก็มีความจำเป็นอย่างน้อยการกระตุ้นระยะสั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนและนักลงทุนได้

“เราก็มีความกังวลต่อความล่าช้าในการจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลอยู่เหมือนกัน ซึ่งจะส่งผลไปถึงการเสียโอกาสในเชิงของการเติบโตเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายที่เร็วขึ้น จะช่วยเสริมความมั่นใจ ที่สำคัญความกังวลต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น หากภาครัฐมีการเร่งใช้จ่ายเงินงบประมาณ และการลงทุนมากขึ้น จะช่วยทำให้มีการนำเข้ามากขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายความกังวลของผู้ส่งออกได้เช่นกัน”

สำหรับคาดการณ์อัตราการเติบโตกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกในปี 2562 อยู่ที่ 4% ต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนเล็กน้อย จากปัจจัยความไม่แน่นอนด้านภูมิศาสตร์การเมือง รวมถึงสงครามการค้าสหรัฐ-จีน แต่อย่างไรก็ดี เริ่มมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้นทำให้คาดการณ์กำไรบจ.ปี 2563 จะปรับขึ้นไป 11% ได้ ด้านค่าเงินสหรัฐ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ขณะที่ค่าเงินบาทไทยมีแนวโน้มทรงตัวในระดับแข็งค่าระยะปานกลาง โดยให้กรอบค่าเงินบาทไว้ที่ 31.20-31.50 บาท

ทั้งนี้ จากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ดังกล่าว คำแนะนำสำหรับนักลงทุน ให้แบ่งกระจายการลงทุน ในสินทรัพย์ที่หลากหลาย โดยให้น้ำหนักไปที่การลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะเอเชีย เนื่องจากราคาหุ้นยังอยู่ในโซนที่ถูก โดยมองกลุ่มสื่อสาร สุขภาพ และวัสดุการผลิต และเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพสูง เช่นตราสารหนี้ภาคเอกชนสหรัฐ นอกจากนี้ ควรพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมที่มีส่วนผสมของการลงทุนในทองคำและน้ำมัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ในระยะยาว ท่ามกลางสภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน และลงทุนในกองทุนรวมทางเลือก เพื่อกระจายความเสี่ยงที่มีภาวะความผันผวนที่สูงขึ้นเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน