‘สุริยะ’ ฟิตเปรี๊ยะ! ลั่นผลักดัน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย-อุ้มเอสเอ็มอี-ขับเคลื่อนอีอีซี-ดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเร่งด่วน เตรียมเดินสายพบเอกชน

‘สุริยะ’ ฟิตจัด! ลั่นงานด่วน – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Thailand Industry Expo 2019 ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังซบเซา เห็นได้จากเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ชะลอตัว เช่น เศรษฐกิจจีนที่ตกต่ำสุดในรอบ 28 ปี สิงคโปร์ตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี เป็นปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญ ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมไทยจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่ตนจะเข้ามาดำเนินการก่อน คือ การส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่แห่งอนาคตตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ครบวงจร เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิตอล การป้องกันประเทศ การพัฒนาและการศึกษา การแปรรูปอาหาร ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นอกจากนี้ จะเร่งหาแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยเบื้องต้นมีแนวคิดหารือกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือถึงแหล่งเงินทุนและมาตรการด้านการเงิน ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ เช่น เรื่องเครดิตบูโร การลดอุปสรรคในการการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมให้มีธรรมาภิบาลในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของเรื่องการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีต้องไปหารือกันให้ได้ข้อสรุปก่อน หากปรับค่าแรงขึ้นจะเป็นต้นทุนในกระบวนการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคปลายทาง

สำหรับโครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้มีแนวนโยบายที่จะกระจายโครงการลงทุนต่างๆ ไปยังพื้นที่อื่นในแต่ละภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและประเทศ

ขณะที่ความคืบหน้ากรณีข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยสั่งปิดเหมืองทองอัคราของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด จำกัดบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการ

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการเรื่องอ้อยและน้ำตาลนั้น ต้องดูแลให้เหมาะสม ดังนั้นการจะดูแลให้ราคาอ้อยขั้นต้นปรับขึ้นไปอยู่ที่ 1,000 บาทต่อตัน ขอศึกษารายละเอียดก่อน ที่สำคัญต้องไม่ให้ขัดกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ:WTO) ด้วย

อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นเดือนส.ค. นี้ มีกำหนดการเดินสายพบภาคเอกชนที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อรับฟังความคิดเห็น รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งร่วมกันผลักดันส่งเสริมและขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ช่วงต้นเดือนส.ค. ที่ รมว.อุตสาหกรรม จะเข้าหารือกับสมาชิก ส.อ.ท. นั้น ทางภาคเอกชนเตรียมเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางสนับสนุนการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ โดยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐว่าต้องมีสัดส่วนการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศอย่างน้อย 50-60% เพราะปัจจุบันมีเพียงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นในประเทศสูงถึง 60-70% รวมถึงจะเสนอให้มีการสนับสนุนจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม เพื่อต่อยอดและช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ ยังมองว่ามาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธปท. ขณะนี้เป็นเพียงมาตรการแก้ปัญหาในระยะสั้น แต่ภาคเอกชนอยากให้ธปท.มีมาตรการดูแลค่าเงินบาทในระยะยาวมากขึ้น เพื่อรองรับความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบัน 1.75% เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรจากค่าเงิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน